ออกแบบรายการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยง

สวัสดีครับวันนี้หมอบีจะมาชวนคุยกันต่อเรื่องการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงนั้นจะออกแบบการตรวจสุขภาพอย่างไรให้ได้ประโยชน์ อย่างที่เกริ่นไปตอนก่อนนะครับว่า การตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยง การตรวจสุขภาพประจำปี และการตรวจสุขภาพก่อนเข้างานนั้นควรนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่เพื่อให้คุ้มค่ากับที่สถานประกอบการต้องจ่ายเงินค่าตรวจไปแต่ละปี และจะนำมาใช้ประโยชน์ได้นั้นต้องประกอบไปด้วย 3 ประเด็นครับ คือ ออกแบบรายการตรวจสุขภาพที่ดี การตรวจสุขภาพดำเนินไปอย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐาน และผลการตรวจสุขภาพนั้นต้องนำมาวิเคราะห์อย่างเหมาะสม

ภาพเชิญอ.วันทนี และอ.พรชัยมาเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนแนวคิดการตรวจสุขภาพที่ระยองปี 2557 ครับ

ถ้าใครอ่านแล้วงงแนะนำให้กลับไปอ่านตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงให้ได้ประโยชน์ก่อนนะครับ ^^

สำหรับการออกแบบรายการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงนั้น ถ้าจะให้ได้ประโยชน์ควรเป็นการกำหนดรายการตรวจสุขภาพเฉพาะที่สามารถนำมาใช้เฝ้าระวังโรคจากการทำงานได้ หรือใช้ประเมินความฟิตของพนักงาน หรือความสมบูรณ์พร้อมในการทำงานของพนักงานได้

การที่จะกำหนดรายการตรวจสุขภาพเหล่านี้ออกมาได้ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงในการทำงานเป็นหลัก คือดูว่างานมีสิ่งคุกคาม มีความเสี่ยงอะไรบ้าง ความเสี่ยงมากหรือความเสี่ยงน้อย ความเสี่ยงแต่ละอย่างนั้นจะทำให้เกิดโรคจากการทำงานอะไร และจึงมาที่โรคจากการทำงานนั้นตรวจอะไรได้บ้างเพื่อทำการเฝ้าระวังโรคหรือเพื่อวินิจฉัยโรคทั้งตรวจวัดระดับการสัมผัสในเลือด ปัสสาวะ หรือสารคัดหลั่งอื่นๆ และการตรวจผลกระทบทางสุขภาพ เช่นเม็ดเลือดแดงในการเฝ้าระวังโลหิตจาง เม็ดเลือดขาวในการเฝ้าระวังมะเร็งเม็ดเลือดขาว การทำงานของตับในการเฝ้าระวังโรคตับแบบต่างๆ

จะเห็นได้ว่าการกำหนดรายการตรวจสุขภาพนั้นผู้ที่ออกแบบรายการตรวจสุขภาพจะต้องมีองค์ความรู้เกี่ยวกับ

1. โรคทั่วไป และการตรวจทางการแพทย์ต่างๆ การตรวจสุขภาพแน่นอนว่าควรออกแบบรายการตรวจสุขภาพโดยผู้ที่มีความรู้ด้านสุขภาพ ข้อนี้แพทย์ทั่วไปทุกท่านสามารถให้คำตอบได้ว่าโรคอะไรที่สนใจและควรตรวจอะไรเพื่อทำการวินิจฉัยโรคนั้นได้ครับ

2. โรคจากการทำงาน และการตรวจเพื่อการวินิจฉัยโรคจากการทำงานข้อนี้จะเกินความสามารถของแพทย์ทั่วไป จึงควรเป็นหน้าที่ของแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ที่ผ่านการอบรมแล้วเท่านั้น ถ้าเป็นแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ที่ผ่านหลักสูตรการอบรมระยะสั้นสองเดือน แปดสัปดาห์ หรือสิบวัน จะพอมีความรู้ในการวินิจฉัยโรคจากการทำงานอยู่บ้างแต่ประสบการณ์การวินิจฉัยโรคจากการทำงานจะน้อยกว่าวุฒิบัตรและอนุมัติบัตรแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ หรือบางท่านอาจจะไม่เคยวินิจฉัยโรคจากการทำงานเลยครับ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญมากว่าแพทย์ที่ไม่มีความมั่นใจในการวินิจฉัยโรคจากการทำงานเหล่านี้มาออกแบบรายการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงมั่วๆให้กับสถานประกอบการ ปัจจุบันแพทย์ที่ผ่านการอบรมระยะสั้นสามารถมาสอบอนุมัติบัตรได้ถ้ามีประสบการณ์การวินิจฉัยโรคจากการทำงานมากพอครับ

3. การประเมินความเสี่ยง แน่นอนครับว่าการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงนั้นต้องประเมินความเสี่ยงจึงจะกำหนดรายการตรวจสุขภาพได้ ถ้าไม่มีการประเมินความเสี่ยงเลยแล้วตรวจไปก็น่าจะเรียกว่าตรวจสุขภาพตามสิ่งคุกคามมากกว่านะครับ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่ามีการประเมินความเสี่ยงคือเสียงที่ดังในที่ทำงาน จะเห็นได้ว่าถ้ามีเสียงดังมากกว่า 85 เดซิเบล สำหรับแปดชั่วโมงการทำงาน ควรจะทำการตรวจสมรรถภาพการได้ยินตามโครงการอนุรักษ์การได้ยิน แต่พอเป็นเรื่องของฝุ่น เรื่องของสารเคมีนั้นกลับไม่มีการกำหนดชัดเจนว่าค่าการตรวจวัดสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่ต้องทำอย่างไรซึ่งเราต้องใช้วิธีการประเมินความเสี่ยงเข้ามาช่วยครับไม่งั้นจะตรวจสุขภาพหลายรายการจนเกินไป ถ้าแพทย์อาชีวเวชศาสตร์บางท่านไม่มีความรู้เรื่องนี้ก็จะไม่ประเมินความเสี่ยงจะทำให้ตรวจสุขภาพที่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายรายการครับ


ภาพอวัยวะเป้าหมายของสารเคมีต่างๆ จาก eon.businesswire.com

4. พิษวิทยา เป็นองค์ความรู้ว่าสารเคมีต่างๆนั้นเข้าสู่ร่างกายอย่างไรทางการกิน การหายใจ หรือทางผิวหนัง เข้าสู่ร่างกายแล้วไปสะสมที่ไหน ในเลือด ในปอด หรือในกระดูก สะสมในร่างกายแล้วเกิดพิษกับอวัยวะใด และสุดท้ายแล้วจะขับออกจากร่างกายทางใด ถ้าไม่มีความรู้ในส่วนนี้จะออกแบบรายการตรวจสุขภาพแบบมั่วมาก บางคนอาจดูแค่ว่าห้องแลปที่มีตรวจอะไรได้บ้างแล้วก็กำหนดรายการนั้นๆให้โรงงานเลย โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมนี้ครับ คนที่ไม่มีความรู้เหล่านี้จะออกแบบรายการตรวจสุขภาพแปลกๆ เช่นให้ตรวจสังกะสี ทองแดง และเหล็กในเลือดโดยที่ไม่รู้เลยว่าการตรวจสารเหล่านี้ซึ่งเป็นองค์ประกอบของร่างกายคนเราอยู่แล้วนั้นไม่มีประโยชน์ แถมตรวจมาแล้วแปลผล วิเคราะห์ผลให้พนักงานเข้าใจผิดไปอีก

5. ความรู้ในการวิเคราะห์ผลตรวจสุขภาพ แน่นอนครับว่าแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ที่ออกแบบรายการตรวจสุขภาพที่ดีจะต้องคิดตั้งแต่วันที่ออกแบบรายการตรวจสุขภาพแล้วว่าจะตรวจเพื่อเฝ้าระวังโรคอะไร หรือประเมินความสมบูรณ์พร้อมในการทำงานด้านไหนบ้าง และเพื่อการนี้จะต้องนำผลการตรวจสุขภาพมาวิเคราะห์อย่างไร แล้วจึงค่อยออกแบบรายการตรวจสุขภาพออกมาครับ ถ้าไม่คิดถึงเรื่องนี้ก็จะออกแบบรายการมาแบบขอไปที รายละเอียดเพิ่มเติมไว้จะกล่าวถึงในการแปลผลและวิเคราะห์ผลตรวจสุขภาพอีกครั้งนะครับ

จะเห็นว่าการออกแบบรายการตรวจสุขภาพนั้นต้องอาศัยองค์ความรู้และประสบการณ์ของแพทย์อาชีวเวชศาสตร์หลายด้านจึงจะออกแบบรายการตรวจสุขภาพมาให้ดีได้ครับ นอกจากนี้คุณสมบัติอีกข้อนอกจากองค์ความรู้แล้วแพทย์ที่ออกแบบรายการตรวจสุขภาพถ้ามาจากบริษัทที่รับเหมาตรวจสุขภาพออกแบบเองอาจออกแบบรายการตรวจสุขภาพมากเกินไป หมอบีจึงอยากแนะนำว่า

ผู้ที่ออกแบบรายการตรวจสุขภาพควรเป็นแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ที่ไม่มีส่วนได้เสียกับบริษัทรับตรวจสุขภาพ

ถ้าอ่านแล้วงง แนะนำให้กลับไปอ่านตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงให้ได้ประโยชน์ก่อนนะครับ ^^

โดยเราอาจให้แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ออกแบบรายการตรวจสุขภาพให้ก่อน แล้วค่อยเลือกหาบริษัทตรวจสุขภาพมาให้บริการอีกที หรือสถานประกอบการหลายแห่งอาจจ้างแพทย์ที่ปรึกษาประจำโรงงานมาทำการออกแบบรายการตรวจสุขภาพและการวิเคราะห์ผลการตรวจสุขภาพให้ครับ

นอกจากนี้หมอบีขอแนะนำว่าอย่างนี้นะครับสิ่งที่ควรให้แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ทำก่อนที่จะออกแบบรายการตรวจสุขภาพคือการเดินสำรวจสถานประกอบการ และ การประเมินความเสี่ยงในการทำงาน ถ้าไม่ทำสองอย่างนี้ให้ดีก็ยากที่จะได้รายการตรวจสุขภาพที่ดีครับ

เมื่อได้รายการตรวจสุขภาพที่ดีแล้วเราค่อยมาควบคุมคุณภาพการตรวจสุขภาพกันต่อครับ และหลังจากที่ได้ผลการตรวจที่มีคุณภาพน่าเชื่อถือแล้วค่อยมาวิเคราะห์ผลตรวจสุขภาพให้เกิดประโยชน์กันนะครับ

เชิญทำความรู้จักกับหมอบีได้ที่นี่ครับ รู้จักกับ"DOCTOR BEE"

หรือติดต่อหมอบีเชิญที่นี่เลยครับ ติดต่อ "DOCTOR BEE"
Share This Post :
Tags :

ติดตาม "หมอบี" ทาง Facebook

บทความใหม่ล่าสุด

[2][recent][recent][บทความใหม่ล่าสุด]

Social Media

Get update news from our social media.