บริการตรวจสุขภาพอย่างมีคุณภาพ

สวัสดีครับวันนี้หมอบีจะมาชวนคุยกันต่อเรื่องตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงให้ได้ประโยชน์สูงสุด ในประเด็นการควบคุมคุณภาพการตรวจสุขภาพครับ คือหลังจากที่แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ออกแบบรายการตรวจสุขภาพให้เหมาะสมกับลักษณะการทำงานแต่ละจุดด้วยการประเมินความเสี่ยงแล้ว ถ้าการตรวจสุขภาพเป็นแบบไม่มีคุณภาพผลการตรวจก็ไม่น่าเชื่อถือไม่ควรเอามาวิเคราะห์แปลผลให้เสียเวลาครับ

แนะนำให้อ่านบทความเรื่องตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงให้ได้ประโยชน์ และ การออกแบบรายการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงก่อนนะครับ

ก่อนอื่นคงต้องบอกว่าคุณภาพการตรวจที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ หลายท่านอาจมองว่าจะเป็นไปได้หรือ จะมีผู้ให้บริการตรวจสุขภาพรายไหนสามารถกระทำได้ หรือจะไปหาผู้ให้บริการตรวจสุขภาพแบบที่ว่าจากที่ไหนกัน ทั้งนี้เนื่องจากบริการตรวจสุขภาพที่มีในท้องตลาดปัจจุบันนั้นมากกว่า 90 % เป็นบริการตรวจสุขภาพที่มีคุณภาพต่ำ เน้นฟาดฟันกันที่ราคา

หากจะมีใครเน้นให้บริการที่มีคุณภาพราคาต้นทุนจะสูงกว่าคู่แข่งอย่างมาก

ภาพคุณภาพและราคา จาก info.iqms.com

ถ้าสถานประกอบการไม่มีการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับคุณภาพการตรวจย่อมเป็นเรื่องปกติที่ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้างของสถานประกอบการส่วนใหญ่จะเลือกใช้บริการที่มีราคาถูกกว่า และวงจรนี้จะย้อนกลับไปทำให้ไม่ค่อยมีผู้ให้บริการตรวจสุขภาพรายใดต้องการที่จะพัฒนาคุณภาพการตรวจนั่นเองครับ ทั้งที่มีกฎหมายออกมารองรับอยู่แล้ว

ความต้องการคุณภาพการตรวจสุขภาพ กับ บริการตรวจสุขภาพที่มีคุณภาพก็เหมือนไก่กับไข่อะไรควรเกิดก่อนกัน

ยกตัวอย่างเทียบเคียงอีกประเด็นคือเรื่องบริการพยาบาลประจำในห้องพยาบาลของสถานประกอบการ แม้จะมีกฎหมายกำหนดไว้ว่าต้องเป็นพยาบาลแต่สถานประกอบการมักกำหนดราคาค่าจ้างไว้ต่ำมากจนไม่น่าจะมีพยาบาลเข้ามา สุดท้ายก็ได้พยาบาลเถื่อน พยาบาลปลอมเข้ามาทำงานในโรงงานจนทำให้เกิดปัญหาบานปลายต้องมาตามจับ ตามปิดกิจการกันวุ่นวาย เหมือนกิจการค้าของเถื่อน ยาเสพติด หรืออาวุธสงคราม สถานประกอบการต้องออกมาบอกปัดความรับผิดชอบกันถ้วนหน้า

ดังนั้นถ้ามองว่าเป็นการรับผิดชอบต่อสังคมและต่อสวัสดิภาพและสุขภาพของพนักงานแล้ว

สถานประกอบการควรมีการกำหนดรายละเอียดของคุณภาพการให้บริการสุขภาพต่างๆให้ชัดเจนในประกาศ และสัญญาการจัดซื้อจัดจ้าง และมีการตรวจสอบควบคุมเป็นระยะ

การควบคุมคุณภาพควรจะเน้นที่คุณวุฒิของผู้ทำการตรวจและเทคนิคการตรวจทางอาชีวอนามัยทั้งสมรรถภาพการมองเห็น สมรรถภาพการได้ยิน และสมรรถภาพปอดเป็นหลัก ส่วนการเก็บสิ่งส่งตรวจก็ควรตรวจสอบว่าเก็บในเวลาที่ควรเก็บด้วยเทคนิคที่ถูกต้อง

เริ่มจากกำหนดให้ผู้ให้บริการตรวจสุขภาพปฏิบัติตาม ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องแนวปฏิบัติการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยง พ.ศ. 2555. ฉบับที่ 4409 (พ.ศ. 2555) โดยกำหนดรายละเอียดที่ชี้เฉพาะเกี่ยวกับมาตรฐานการตรวจสุขภาพแต่ละรายการไว้ตามที่ระบุไว้ในกฎหมายนี้ในหน้า 47-60 ให้ฝ่ายจัดซื้อเพื่อหาผู้ให้บริการตรวจสุขภาพที่ดี และระบุลงไปในสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างให้ชัดเจน

อ่านประกาศนี้ฉบับเต็มได้ที่นี่ครับ http://www.summacheeva.org/documents/share_55_industry.PDF

รายละเอียดที่ชี้เฉพาะที่ควรระบุไว้ในประกาศ และสัญญาการว่าจ้างได้แก่ เอกสารคุณวุฒิความรู้ของผู้ที่ดำเนินการตรวจ เอกสารการตรวจสอบเครื่องมือตรวจ เอกสารตรวจรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการสิ่งส่งตรวจ (ISO/IEC 17025) เทคนิคการตรวจสอบเครื่องมือตรวจอีกครั้งที่หน้างานก่อนทำการตรวจจริง และเทคนิคการตรวจที่เหมาะสมสำหรับแต่ละรายการตรวจ



วันที่มีการตรวจสุขภาพประจำปีให้กับพนักงาน ฝ่ายบุคคลและ/หรือเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยควรมีบทบาทในการตรวจสอบผู้มารับบริการว่าได้ทำตามสัญญาการจ้างเหมาในการให้บริการตรวจสุขภาพประจำปีหรือไม่

ส่วนที่ควรดำเนินการตรวจสอบได้แก่ เอกสารคุณวุฒิความรู้ของผู้ที่ดำเนินการตรวจ ผู้ที่ทำการตรวจหน้างานกับผู้ที่อยู่ในเอกสารคุณวุฒิตรงกันหรือไม่ เอกสารการตรวจสอบเครื่องมือตรวจตรงกับเครื่องที่ใช้หน้างานหรือไม่ มีการตรวจสอบเครื่องมือตรวจที่หน้างานอีกครั้งหรือไม่ เทคนิคการตรวจว่าเหมาะสมถูกต้องหรือไม่

สำหรับการตรวจสอบสิ่งส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการนั้นควรติดตามดูตั้งแต่กระบวนการเก็บตัวอย่างว่าระยะเวลาที่ทำการเก็บตัวอย่างแต่ละรายการถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เทคนิคการเก็บตัวอย่างถูกต้องหรือไม่ และถ้าเป็นไปได้ควรตรวจสอบด้วยว่ากระบวนการขนส่งตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการเป็นอย่างไร และกระบวนการตรวจที่ห้องปฏิบัติการและการรายงานผลได้มาตรฐานจริงหรือไม่

ระยะเวลาที่ทำการเก็บตัวอย่างเป็นเรื่องสำคัญที่ทางสถานประกอบการหลายแห่งละเลย สารเคมีหลายอย่างอยู่ในร่างกายได้ในระยะเวลาที่สั้นมาก ต้องตรวจเลือดหรือปัสสาวะทันทีหลังเลิกงานเท่านั้น หรือตรวจในเวลาที่กำหนดเท่านั้น จึงจะตรวจพบสารเคมี

ถ้าปล่อยให้บริษัทรับตรวจสุขภาพจะเข้ามาเก็บตัวอย่างเวลาที่สะดวกเท่านั้นทำให้ผลการตรวจไม่สามารถใช้อ้างอิงอะไรได้มากนัก บ่อยครั้งที่ผลการตรวจที่เป็นผลลบลวงทำให้พนักงานและสถานประกอบการเข้าใจว่าปลอดภัยทั้งที่จริงแล้วเสี่ยงมาก

สำหรับเอกสารคุณวุฒิต่างๆสามารถตรวจสอบเพิ่มเติมว่าเป็นของจริงหรือไม่โดยเข้าไปตรวจสอบผ่านทางเวปไซต์ของหน่วยงานที่ออกหนังสือเอกสารนั้นๆครับ
เช่นการตรวจสอบแพทย์เฉพาะทางอาชีวเวชศาสตร์ที่ http://www.tmc.or.th/service_check_doctor.php



อีกประเด็นหนึ่งคือการตรวจสอบเทคนิคการตรวจทางอาชีวอนามัยต่างๆครับ สำหรับการตรวจสมรรถภาพการมองเห็น สมรรถภาพการได้ยิน และสมรรถภาพปอด แน่นอนว่าถ้าเป็นการตรวจโดยพยาบาลอาชีวอนามัยแล้วน่าจะมีคุณภาพที่ยอมรับได้ แต่เพื่อให้แน่ใจอาจต้องลองสังเกตุดูขณะที่ทำการตรวจด้วย ไว้หมอบีจะอธิบายรายละเอียดการตรวจนี้อีกทีละกันนะครับ

เชิญทำความรู้จักกับหมอบีได้ที่นี่ครับ รู้จักกับ"DOCTOR BEE"


หรือติดต่อหมอบีเชิญที่นี่เลยครับ ติดต่อ "DOCTOR BEE"
Share This Post :
Tags :

ติดตาม "หมอบี" ทาง Facebook

บทความใหม่ล่าสุด

[2][recent][recent][บทความใหม่ล่าสุด]

Social Media

Get update news from our social media.