ปวดหลังจากการทำงาน VS กองทุนเงินทดแทน

สวัสดีครับ วันนี้หมอบีจะมาชวนคุยเกี่ยวกับการพิจารณาว่ากลุ่มอาการปวดหลังแบบไหนเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เชื่อว่าหลายๆท่านอาจจะเคยมีอาการปวดหลังมาสักครั้งในชีวิตและแต่ละสถานประกอบการน่าจะมีพนักงานที่มีอาการปวดหลังในแผนกต่างๆอยู่หลายคน ทั้งพนักงานและสถานประกอบการมักจะม่ได้ปรึกษาแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ว่าเป็นโรคจากการทำงานใช่หรือไม่ ทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ดำเนินการป้องกัน พนักงานก็มีอาการหนักขึ้นเรื่อยๆ ทำงานไม่ไหวก็ไล่ออกไป ทำให้พนักงานรายอื่นๆป่วยตามๆกันมา ปัญหาลุกลามใหญ่โตไปถึงกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน

 เมื่อมีกรณีที่พนักงานมาปรึกษาหมอบี ว่า มีอาการปวดหลังสงสัยว่าอาจเป็นโรคปวดหลังจากการทำงาน ประเด็นที่สำคัญในการพิจารณาของหมอบีเลย คือ

ตามที่กองทุนเงินทดแทนของประเทศไทยกำหนดไว้ว่า ให้พิจารณาจาก ระยะเวลาที่ทำงานถึงเวลาที่ไปพบแพทย์รักษา อาการปวดแบบกะทันหันหรือค่อยเป็นค่อยไป ลักษณะการทำงาน ยกของหนัก บิดเอี้ยวลำตัว ก้มเงยๆ ย้ำว่าต้องวันละหลายๆครั้ง


ระยะเวลาในการทำงานที่ทำให้เริ่มปวดหลังจนถึงเวลาที่ไปพบแพทย์หรือก็คือ ถ้าพนักงานบอกว่าทำงานวันนี้แล้วมีอาการปวดหลังแต่รอแล้วรออีกกว่าจะไปพบแพทย์ หรือมัวแต่ซื้อยากินเอง แล้วไม่หายกว่าจะไปพบแพทย์ก็อีก 1-2 ปีให้หลังแบบนี้จะบอกว่าเป็นโรคจากการทำงานยากครับเพราะระยะเวลาที่ทำงานจนถึงเวลาที่ไปรักษากับแพทย์นานเกินไป ปกติกรณีแบบนี้ถ้ากองทุนเงินทดแทนจะให้วินิจฉัยว่าเป็นโรคจากการทำงานได้ระยะเวลาที่ว่าต้องไม่เกินหกเดือนนะครับ

ถ้าปวดแบบกะทันหันหลังจากการทำงานที่ต้องก้มๆเงยๆ ยกของหนัก และมีการบิดเอี้ยวลำตัวแบบนี้ หมอบีว่ามีโอกาสเป็นโรคจากการทำงานสูงครับ แต่ถ้าค่อยๆมีอาการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือตอนแรกนานๆจะปวดซักที ต่อมาปวดวันเว้นวัน ต่อมาเปลี่ยนเป็นปวดทุกวัน ปวดมากขึ้นเรื่อยๆแบบนี้หมอบีต้องประเมินลักษณะการทำงานละเอียดมากครับ เช่นต้องดูว่าท่าทางการทำงานเป็นอย่างไร ยกของหนักเท่าไหร่ วันละกี่ครั้ง ท่าทางการทำงานผิดปกติหรือเปล่า พวกนี้ต้องใช้เครื่องมือทางการยศาสตร์เข้ามาช่วยประเมินครับ ต้องลงไปเดินสำรวจหน้างานเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อจะสรุปให้ได้ครับ

ภาพก่อนการเดินสำรวจหน้างานที่สถานประกอบการ

อาการปวดหลังบางโรคแพทย์อาจต้องส่งตรวจทางรังสีวิทยาเพิ่มเติมครับ แต่ถ้าปวดกล้ามเนื้อทั่วๆไป ไม่มีอาการชาขา หรือขาอ่อนแรงมักจะไม่ต้องตรวจเพิ่มเติม แต่พนักงานบางคนอาจต้องการตรวจเพื่อความสบายใจของพนักงานก็ไม่ว่ากัน แต่การสัมผัสรังสีโดยไม่จำเป็นก็มีอันตรายของมันอยู่ครับ

ภาพการตรวจเอกซเรย์กระดูกที่บริเวณหลัง จาก web.stanford.edu

เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคปวดหลังจากการทำงานเสร็จแล้วจะเขียนใบ กท.16 ส่งให้กองทุนเงินทดแทน จะมีคณะกรรมการแพทย์พิจารณาอีกครั้งเพื่อจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล และค่าชดเชยให้พนักงานที่ได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยจากการทำงานต่อไปครับ

ที่หมอบีเล่ามาทั้งหมดนะครับจะเห็นว่า

หลักการวินิจฉัยโรคปวดหลังจากการทำงานของกองทุนเงินทดแทนของประเทศไทยจะให้เฉพาะงานที่ต้องยกของหนักเท่านั้นครับ 

ในประเทศไทยโรคปวดหลังจากการทำงานยังไม่ครอบคลุมถึงงานที่มีความเสี่ยงอีกหลายอย่างเหมือนของประเทศญี่ปุ่น เช่น งานที่ต้องยืนนานๆด้วยท่าทางที่ผิดปกติตลอดเวลา เช่น งานปีนเสาไฟฟ้าเพื่อทำการติดตั้งไฟฟ้า งานที่ทำงานกับแรงสั่นสะเทือนที่บริเวณหลัง เช่น ทำงานกับเครื่องจักรในไซต์งานก่อสร้าง  หรืองานที่ต้องนั่งนานๆ เช่น พนักงานออฟฟิศหรือพนักงานขับรถบรรทุกรถขนส่งทางไกลๆ

ภาพกลุ่มเสี่ยงโรคปวดหลังจากการทำงานขับรถ จาก www.courseimage.com

ในกลุ่มประเทศโซนยุโรปการวินิจฉัยโรคปวดหลังจากการทำงานที่มีสาเหตุมาจากการสัมผัสแรงสั่นสะเทือนเป็นเรื่องปกติเลยครับ ขอสรุปเลยละกันนะครับว่า กองทุนเงินทดแทนบ้านเรายังมีเรื่องที่ต้องพัฒนาอีกเยอะครับ ทั้งหมดนี้เพื่อให้พนักงานที่มีความเสี่ยงเป็นโรคปวดหลังจากการทำงานได้รับการวินิจฉัยเพื่อนำไปสู่การป้องกันที่เหมาะสมต่อไปครับ

ตามความเห็นส่วนตัวของหมอบีแล้วการที่กองทุนเงินทดแทนจะวินิจฉัยให้กลุ่มอาการปวดหลังกรณีไหนเป็นโรคจากการทำงานหรือไม่เป็นนั้น ไม่สำคัญเท่ากับข้อมูลทางการแพทย์ที่มีอยู่สนับสนุนว่าเป็นโรคจากการทำงานหรือไม่ ดังนั้นถึงแม้จะไม่ได้รับการวินิจฉัยจากกองทุนเงินทดแทนแต่ก็ควรมีการ วางระบบดำเนินการป้องกันและควบคุมความเสี่ยงในการทำงาน นะครับ เพราะถ้าไม่ทำอะไรก็รอพนักงานคนอื่นที่ทำงานแบบเดียวกันจะมีอาการปวดหลังเหมือนกันได้เลยครับ
Share This Post :
Tags : ,

ติดตาม "หมอบี" ทาง Facebook

บทความใหม่ล่าสุด

[2][recent][recent][บทความใหม่ล่าสุด]

Social Media

Get update news from our social media.