OHS services วางระบบดูแลสุขภาพพนักงาน

สวัสดีครับ วันนี้หมอบีจะมาชวนคุยเรื่องการวางระบบให้บริการดูแลสุขภาพของพนักงานในสถานประกอบการ (Occupational Health and Safety Services, OHS services) สำหรับภาพรวมของประเทศไทยนั้นเราจะพบว่าสถานประกอบการที่มีสัญชาติต่างประเทศ (Foreign Company)จะมีการนำระบบการดูแลสุขภาพจากบริษัทแม่ในประเทศที่เจริญแล้วเข้ามาปรับใช้ดูแลสุขภาพพนักงานซึ่งเป็นเรื่องที่ดีถ้านำมาปรับใช้ได้เข้ากับบริบทกฎหมายของประเทศไทยของเราเป็๋นเรื่องที่น่าชื่นชมจริงๆครับ เชื่อว่าในแต่ละสถานประกอบการน่าจะมีหรือเคยมีคำถามคล้ายๆกันว่าจะดูแลสุขภาพของพนักงานอย่างไรถึงจะเหมาะสม หรือยังมีระบบบริการสุขภาพอะไรที่สถานประกอบการของเรายังขาดอยู่บ้าง และในระบบการดูแลสุขภาพของพนักงานนั้นควรประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

ก่อนอื่นเราคงต้องมาดูกันก่อนครับว่า สำหรับเป้าหมายของการดูแลสุขภาพของพนักงานของเรานั้นคืออะไร การดูแลสุขภาพหรือจะเรียกว่าการเฝ้าระวังสุขภาพให้กับพนักงานในสถานประกอบการนั้นเราควรให้ความสนใจกับ 
1.การวินิจฉัยโรคจากการทำงานให้ได้ในระยะแรกเริ่ม 
2.การประเมินความฟิตของพนักงานในการทำงาน 
3.การติดตามดูข้อมูลการเจ็บป่วยของพนักงานในภาพรวม

ภาพบริการอาชีวอนามัยจาก nurseinoccupationalhealth.weebly.com

1. วินิจฉัยโรคจากการทำงานให้ได้ในระยะแรกเริ่ม (Early Diagnosis of Occupational Disease) เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากในงานอาชีวอนามัย เนื่องจากเกิดประโยชน์กับทุกคน ทุกฝ่าย การที่พนักงานสักคนนึงได้รับการวินิจฉัยโรคจากการทำงานระยะแรกเริ่ม ช่วยให้อาการไม่รุนแรง รักษาให้หายดีได้ ไม่กลายเป็นโรคที่ร้ายแรงต่อไป สถานประกอบการจะมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ไม่เจ็บไม่ป่วย ช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับสถานประกอบการได้ ทุกคนได้ประโยชน์จริงๆ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยบางท่านอาจมองว่า

จะดีกว่ามั้ยถ้า ควบคุมความเสี่ยงให้ไม่เกิดโรคจากการทำงานขึ้นเลย

แน่นอนว่าถ้าไม่เริ่มป่วยเลยน่าจะดีที่สุด แต่แนวคิดนี้ส่งผลให้เกิดการดำเนินการที่ผิดพลาดต่อไป โดยจะมองว่าการควบคุมความเสี่ยงทำได้เป็นที่น่าพึงพอใจแล้วในความเห็นของตนเอง และละเลยการส่งพนักงานเข้ารับการวินิจฉัยโรคจากการทำงาน โดยคิดว่า

ความเสี่ยงควบคุมได้หมดแล้วจะเป็นโรคจากการทำงานได้อย่างไร

บางคนอาจจะรู้สึกผิดมากที่จะส่งพนักงานสักคนที่มีความสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคจากการทำงานเข้ารับการวินิจฉัยโรคจากการทำงานโดยแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ เพราะเกรงว่าจะสะท้อนถึงความบกพร่องในการควบคุมความเสี่ยงของสถานประกอบการ ทำให้พนักงานเสียโอกาสในการรับบริการนี้ ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี และต้องกลับเข้าไปทำงานที่ทำให้ป่วยอีกซ้ำไปซ้ำมา ทั้งนี้ทัศนคติที่ถูกต้องของผู้ที่มีหน้าที่ดูแลสุขภาพในสถานประกอบการที่ถูกต้องแล้วควรจะเป็นว่า

เมื่อสงสัยโรคจากการทำงานใดๆแล้วควรจะ Investigate ให้ถึงที่สุด จนกว่าแพทย์อาชีวเวชศาสตร์จะแน่ใจแล้วว่าไม่ใช่

2. ประเมินความฟิตของพนักงาน (Fitness for work/Return to work)การใช้คนให้เหมาะกับงาน หรือ Put the right man to the right job เป็นประเด็นที่พูดคุยกันอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้ที่ทำงานอาชีวอนามัย ในทางแนวคิดแล้วเราควรจะเลือกคนที่น่าจะทำงานนั้นได้อย่างสมบูรณ์เข้ามาปฏิบัติหน้าที่นั้นๆ และ/หรือปรับสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสมกับคนนั้นๆ หรือ Put the right job to the right man นั่นเอง

แต่ในทางปฏิบัติจริงแล้วเรามักจะพบว่าสถานประกอบการบางแห่งใช้เป็นประเด็นทางสุขภาพในการกีดกันพนักงานบางคนจนเกินจริง โดย บางแห่งอาจจะพิจารณาไม่รับพนักงานที่เป็นเอดส์เข้าทำงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่งใดๆ โดยที่พนักงานไม่มีอาการใดๆ แต่บังคับให้พนักงานตรวจเลือดหาเชื้อเอดส์ก่อนรับเข้าทำงานและปฏิเสธพนักงานที่มีเชื้อไม่ให้เข้าทำงาน

แนวคิดที่ถูกต้องคือจะต้อง พิจารณาดูว่าโรคที่เป็นหรือความผิดปกติทางสุขภาพนั้นจะทำให้เป็นอุปสรรคในการทำงานอย่างไร และจะวางแผนร่วมกันแบบสหสาขาวิชาชีพว่าจะมีวิธีใดที่จะช่วยให้พนักงานคนนี้ทำงานได้อย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพเท่ากับคนทั่วไป นอกจากโรคที่เป็นข้อห้ามในการทำงานนี้จริงๆ ทั้งนี้แล้วจะมีงานใดในโรงงานที่ห้ามคนเป็นโรคเอดส์ที่ไม่มีอาการแสดงอะไรทำละครับ นึกไม่ออกจริงๆ

3. ติดตามภาพรวมการเจ็บป่วยของพนักงาน (Epidemiological Observation) แน่นอนว่าสถานประกอบการที่ดีนั้นจะมีการประเมินความเสี่ยงและการควบคุมความเสี่ยงที่เป็นระบบ แต่หลายแห่งจะลืมไปว่าการที่ความเสี่ยงต่ำนั้นหากมีพนักงานที่เจ็บป่วยจากการทำงานอยู่ก็อาจเป็นได้ว่าการประเมินความเสี่ยงนั้นยั้งมีจุดที่บกพร่อง มีประเด็นให้พัฒนาได้อีก

สถานประกอบการที่คิดแบบนี้มักจะละเลยการติดตามภาวะสุขภาพของพนักงาน เพราะเชื่อใจผลการประเมินความเสี่ยงของตนเองมากเกินไป ทำให้ไม่มีการทบทวนการประเมินความเสี่ยงภายหลังจากการเกิดเหตุการณ์การเจ็บป่วยของพนักงาน

ทั้งนี้ภาพรวมการเจ็บป่วยของพนักงานอาจทำได้จากการรวบรวมข้อมูลการเจ็บป่วย การมาใช้บริการที่ห้องพยาบาล การลาป่วย และผลการตรวจสุขภาพประจำปีของพนักงาน โดยเมื่อมีข้อมูลครบถ้วนแล้วนำมาวิเคราะห์เราจะเห็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญที่สุดในภาพรวมของสถานประกอบการที่ต้องดำเนินการแก้ไขต่อไป ซึ่งบางครั้งปัญหาสุขภาพที่สำคัญอาจจะไม่ใช่โรคจากการทำงานก็ได้

เป็นอย่างไรบ้างครับ การวางระบบดูแลสุขภาพให้พนักงานไม่ใช่เรื่องยากเลยใช่มั้ยครับ แต่หมอบีอยากบอกว่าการที่จะทำระบบดูแลสุขภาพให้พนักงานอย่างสมบูรณ์และลงตัวได้ต้องอาศัยการร่วมมือในการทำงานแบบสหสาขาวิชาชีพ ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง ฝ่ายบุคคล เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ และพยาบาลอาชีวอนามัย ทำงานร่วมกันเป็นเวลานานพอสมควร ทั้งนี้ขึ้นกับบริบทของสถานประกอบการแต่ละแห่งด้วยครับ

สถานประกอบการหลายแห่งอาจยังไม่รู้ว่าตนเองยังขาดบริการสุขภาพด้านใด หมอบีแนะนำว่าลองประเมินดูทั้งสามหัวข้อที่กล่าวไว้ว่าทำได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้วหรือยัง สำหรับวันนี้สวัสดีครับ
Share This Post :
Tags :

ติดตาม "หมอบี" ทาง Facebook

บทความใหม่ล่าสุด

[2][recent][recent][บทความใหม่ล่าสุด]

Social Media

Get update news from our social media.