BACK SUPPORT ป้องกันโรคจากการทำงานไม่ได้ ?

สวัสดีครับวันนี้หมอบีจะมาชวนคุย เรื่องของการสวมใส่ Back Support หรือ Back Brace เพื่อป้องกันอาการปวดหลังของพนักงาน ปัจจุบันมีสถานประกอบการหลายแห่งเข้าใจผิดโดยจัดให้พนักงานสวมใส่ Back Support โดยระบุว่าเป็น อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัย (PPE) สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงทางการยศาสตร์ในการทำงานยกของหนัก ก้มเงย และบิดเอี้ยวลำตัว ทำให้พนักงานเกิดปัญหาสุขภาพตามมา

แนะนำให้อ่านบทความเกี่ยวกับ โรคปวดหลังจากการทำงานและกองทุนเงินทดแทน กันก่อนนะครับ ^^

ภาพการสวมใส่ Back Support หรือ Back Brace จาก www.oempromo.com

ถ้ามองย้อนกลับไปเกือบร้อยปีก่อน (1957) จะมีผลงานศึกษาวิจัยที่ระบุว่า การสวมใส่ Back Support นั้นสามารถลดแรงกดที่กระดูกหลังส่วนล่างบริเวณ L5/S1 ได้ และสามารถลดภาระการทำงานของกล้ามเนื้อหลัง ได้ถึง 55%

แต่ภายหลังมีงานวิจัยที่ออกมาอีกหลายฉบับระบุว่าการลดแรงกดที่กระดูกหลังส่วนล่างและ การลดภาระการทำงานของกล้ามเนื้อหลังที่ว่านั้นไม่เป็นความจริง ในทางกลับกันบางงานวิจัยกลับกลายเป็นว่าขณะที่สวมใส่แรงกดที่กระดูกหลังกลับเพิ่มขึ้นเสียอีก ทำให้หลังเกิดการบาดเจ็บได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ดีอาการปวดหลังจะลดลงได้จริงขณะที่สวมใส่เนื่องจาก

  1. กระดูกหลังถูกยึดให้ตรงด้วยแรงดันในช่องท้องที่มากขึ้น 
  2. กระดูกหลังอยู่ในสภาวะที่มั่นคง 
  3. ใช้ท่าทางการทำงานที่ผิดหลักการยศาสตร์เช่น การก้มหลัง และการบิดเอี้ยวลำตัวได้ยากลำบากขึ้น


ในขณะที่สวมใส่เสมือนการเข้าเฝือกเวลากระดูกหักนั่นเอง โดยต้องแลกกับภาระการทำงานของระบบหัวใจในการสูบฉีดเลือดที่มากขึ้น

การที่แรงดันในช่องท้องสูงกว่าปกติเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูงและโรคของระบบหัวใจและหลอดเลือดที่เป็นอันตรายรุนแรงกว่าในระยะเวลาต่อมา

พนักงานที่สวมใส่เองก็รู้สึกว่าปลอดภัยขณะที่สวมใส่และทำงานด้วยท่าทางที่ไม่ถูกต้องต่อเนื่องไปอีกทำให้เสี่ยงที่จะเกิดอาการบาดเจ็บที่รุนแรงขึ้น ที่ร้ายกว่าคือเมื่อหยุดใช้หลังจากที่สวมใส่ต่อเนื่องมาเป็นระยเวลานานพนักงานไม่รู้ว่ากล้ามเนื้อหลังของตัวเองอ่อนแรงลงแล้วจากการที่ไม่ได้ใช้งานนานๆ เมื่อกลับไปทำงานหนักเท่าเดิมก็บาดเจ็บง่ายขึ้นอีกเพราะกล้ามเนื้อหลังอ่อนแรงนั่นเอง

สิบห้าปีก่อน (ในปี 2000) มีการศึกษาวิจัยขึ้นที่ห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่งที่มีสาขามากมายในอเมริกา พบว่า การสวมใส่ Back Support นั้นไม่สามารถช่วยป้องกันอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นในพนักงานและเลิกใช้เป็นอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยไปในที่สุด

ภาพการทำงานในห้างสรรพสินค้าที่เสี่ยงต่อการปวดหลัง จาก www.carbonated.tv

"ถูกริดรอนสิทธิประโยชน์ที่พึงมีพึงได้จากสถานประกอบการ"

เมื่อสถานประกอบการที่เคยจัด Back Support ให้เป็นอุปกรณ์ป้องกันการบาดเจ็บให้พนักงานเริ่มมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เวลาที่สถานประกอบการพยายามจะเลิกใช้ก็มีปัญหาจากความไม่เข้าใจของพนักงาน เกิดเป็นความรู้สึกที่ว่า "ถูกริดรอนสิทธิประโยชน์ที่พึงมีพึงได้จากสถานประกอบการ" วึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนที่จะเริ่มกระบวนการเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ

เป็นอย่างไรบ้างครับการสวมใส่ Back Support นั้นมีประโยชน์เวลาที่เกิดอาการบาดเจ็บในช่วงระยะเวลาสั้นๆไม่กี่วัน และควรได้รับจากแพทย์เฉพาะทางโรคกระดูกโดยตรง โดยแพทย์จะสั่งให้เพื่อประโยชน์ในการรักษาเท่านั้น การสวมใส่เป็นอุปกรณ์ป้องกันและการสวมใส่นานเกินกว่าที่แพทย์แนะนำจะเพิ่มอันตรายหลายอย่างให้กับสุขภาพของผู้สวมใส่ทั้งทางตรงและทางอ้อมดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

และอีกเรื่องที่หมอบีแนะนำว่าควรทำไปด้วยกันขณะที่มีพนักงานบาดเจ็บคือควรมีการปรับสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสมตาม หลักการยศาสตร์ ERGONOMICS เพื่อลดโอกาสเกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงขึ้นในระหว่างที่ทำการรักษา หรือปรับสภาพการทำงานให้ปลอดภัยอย่างถาวรเพื่อให้การทำงานไม่สะดุดจากการบาดเจ็บของพนักงานซ้ำๆที่ทำให้ต้องลาป่วยบ่อยๆนะครับ 

แนะนำให้อ่านบทความเรื่อง ERGONOMICS การยศาสตร์ 3 สาขา อีกหนึ่งบทความดีดีบนเวปของหมอบีนะครับ สำหรับวันนี้สวัสดีครับ ^^
Share This Post :
Tags : , ,

ติดตาม "หมอบี" ทาง Facebook

บทความใหม่ล่าสุด

[2][recent][recent][บทความใหม่ล่าสุด]

Social Media

Get update news from our social media.