Spirometry 3 time การเป่าปอดสามครั้งอย่างมีคุณภาพ

สวัสดีครับ วันนี้หมอบีจะมาชวนคุยเกี่ยวกับการตรวจสมรรถภาพปอดด้วยวิธี Spirometry หรือที่เรียกกันว่าการเป่าปอด นั่นเองครับ สถานประกอบการจำนวนมากจัดการตรวจสมรรถภาพปอดให้พนักงานกลุ่มเสี่ยงต่างๆในรายการตรวจสุขภาพประจำปี แต่สิ่งหนึ่งที่อาจสงสัยกันว่า ผลการตรวจสามารถนำมาใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง และทำอย่างไรจึงจะนำผลการตรวจมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พนักงานได้รับการดูแลการเฝ้าระวังโรคจากการทำงานโดยอาศัยผลจากการตรวจสุขภาพครั้งนี้กันครับ

ก่อนอื่นคงต้องเริ่มจากว่าพนักงานกลุ่มเสี่ยงไหนบ้างล่ะที่ควรได้รับการตรวจสมรรถภาพปอด ด้วยวิธีการเป่าปอดในแต่ละปี เราก็ต้องรู้ก่อนว่าการตรวจสมรรถภาพปอดนั้นสามารถคัดกรองอาการของโรคปอดแบบไหนได้บ้าง โรคปอดที่ตรวจพบความผิดปกติได้จากการเป่าปอดนั้นแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ


  1. กลุ่มโรคที่ทำให้เกิดการไหลเวียนของอากาศในปอดผิดปกติแบบหลอดลมอุดกั้น เช่น โรคหอบหืดหรือปัจจุบันเรียกว่าโรคหืดบ่อยครั้งอาจมีสาเหตุจากสารเคมีในการทำงานมากระตุ้นได้แต่มักตรวจไม่พบถ้าไม่มีอาการแสดงในวันที่เข้ารับการตรวจประจำปี นอกจากนี้ยังมีโรคอื่นๆ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคปอดฝุ่นฝ้าย
  2. กลุ่มโรคที่ทำให้เกิดความผิดปกติแบบจำกัดการขยายตัวของเนื้อปอด เช่น โรคมะเร็งหรือเนื้องอกในปอด และโรคที่ทำให้เกิดพังผืดในปอดจากสารเคมีต่างๆก็สามารถทำให้เกิดอาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้

ภาพคุณตำรวจก็มาเป่าปอด จาก www.banmuang.co.th

พนักงานรายใดบ้างที่ควรเข้ารับการตรวจสมรรถภาพปอดแบบ Spirometry ?

แน่นอนว่าเป็นพนักงานที่สัมผัสสารเคมีชนิดต่างๆในระหว่างการทำงานควรเข้ารับการตรวจเพื่อการเฝ้าระวังโรคจากการทำงาน

แต่พนักงานอีกกลุ่มหนึ่งที่ควรเข้ารับการตรวจ ได้แก่ พนักงานที่ทำงานต่างๆที่ต้องอาศัยระบบการทำงานของระบบหายใจที่มีประสิทธิภาพ กลุ่มที่ต้องเข้าทำงานในพื้นที่อับอากาศ การทำงานบนที่สูง เป็นการใช้การเป่าปอดเพื่อประเมินความฟิตหรือความสมบูรณ์พร้อมในการทำงานนั่นเองครับ

นอกจากนี้ควรพิจารณาด้วยว่า พนักงานกลุ่มใดที่ควรหลีกเลี่ยงการตรวจสมรรถภาพปอดแบบ Spirometry สามารถอ่านได้จากบทความของน้องหมอก้องเพิ่มเติมนะครับ ^^

แน่นอนว่าเมื่อวัตถุประสงค์ในการตรวจแตกต่างกันการแปลผลการตรวจสมรรถภาพปอดที่ตรวจย่อมต้องแตกต่างกัน ซึ่งเป็นประเด็นที่บริษัทรับตรวจสุขภาพต่างๆและตลอดจนสถานประกอบการยังไม่เข้าใจในประเด็นนี้

การตรวจเพื่อประเมินความฟิตหรือความสมบูรณ์พร้อมในการทำงาน ควรแปลผลโดยการเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานของลักษณะการทำงาน เช่น การทำงานในที่อับอากาศจะมีเกณฑ์กำหนดค่าของ FVC ไว้ที่ มากกว่าหรือเท่ากับ 66 % ของค่า Predicted FVC นั่นคือถึงแม้ผลการตรวจจะผิดปกติแบบจำกัดการขยายตัวของเนื้อปอด ในระดับเล็กน้อย (Mild Restrictive) ก็ยังสามารถทำงานในที่อับอากาศได้ ปัจจุบันการแปลผลการตรวจของบริษัทรับตรวจสุขภาพจะแปลแบบนี้อยู่แล้วจึงไม่น่าเป็นห่วงอะไร

แต่สำหรับกรณีการตรวจเพื่อเฝ้าระวังโรคจากการทำงานในพนักงานกลุ่มเสี่ยงที่ทำงานสัมผัสสารเคมีที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจนั้น การแปลผลเพื่อการเฝ้าระวังควรเป็นแบบเทียบกับผลการเป่าปอดครั้งก่อนหน้า เพื่อติดตามดูว่าสมรรถภาพการทำงานของปอดมีแนวโน้มที่จะลดลงหรือไม่ ถ้ามีแนวโน้มที่จะลดลงแม้ว่าจะยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ สถานประกอบการและพนักงานควรจะต้องได้รับทราบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ เพื่อนำไปพิจารณาปรับสภาพแวดล้อมการทำงานให้พนักงานต่อไป

เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ในปัจจุบันมีสถานประกอบการน้อยแห่งมากที่มีการดำเนินการเฝ้าระวังโรคระบบทางเดินหายใจจากการทำงานให้พนักงานโดยอาศัยการแปลผลการเป่าปอดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ จึงเป็นไปได้ที่พนักงานกลุ่มเสี่ยงที่ปอดเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงจำนวนมากจะไม่รู้ตัวและไม่ได้รับการป้องกันอย่างถูกต้องเหมาะสม

อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณาในการนำผลการตรวจสมรรถภาพปอดแบบ Spirometry มาใช้ประโยชน์ คือเรื่องของคุณภาพการตรวจ สถานประกอบการจำนวนมาละเลยประเด็นเรื่องของคุณภาพโดย ยกให้เป็นหน้าที่ของบริษัทที่เข้ามารับเหมาตรวจสุขภาพ และไม่เข้าไปดำเนินการตรวจสอบใดๆ หากโชคดีได้บริษัทที่มีจรรยาบรรณก็ดีไป แต่ส่วนใหญ่มักจะได้บริษัทที่เน้นเรื่องของราคา ควบคุมต้นทุนให้ต่ำ คุณภาพเป็นเรื่องรอง แบบนี้

สถานประกอบการบางแห่งชอบของราคาถูก แต่พนักงานได้บริการตรวจที่มีคุณภาพต่ำกลับไป ใช้ประโยชน์อะไรขากผลการตรวจไม่ได้มากนัก

ประเด็นที่สถานประกอบการควรตรวจสอบสำหรับการตรวจสมรรถภาพปอดด้วยวิธี Spirometry ได้แก่


  1. เครื่องมือในการตรวจ ต้องได้รับการตรวจสอบคุณภาพเป็นระยะตามที่กำหนดไว้ และมีเอกสารรับรองการสอบเทียบเครื่องมือมาแสดงในวันที่ตรวจ
  2. คุณวุฒิของผู้ที่ทำการตรวจ ส่วนใหญ่บริการที่มีคุณภาพเทคนิคดีดี จะเป็นการตรวจโดยพยาบาลอาชีวอนามัย แต่ก็มีหลักสูตรอื่นๆที่ได้รับการยอมรับให้ตรวจสมรรถภาพปอดได้เช่นกัน ควรมีการตรวจสอบคุณวุฒิของผู้ที่อยู่ประจำเครื่องที่หน้างานทุกครั้ง ถ้าเห็นวุฒิที่แปลกๆไม่แน่ใจว่าได้รับการยอมรับหรือไม่ควรสอบถามไปที่สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย หรือ สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย
  3. เทคนิคในการตรวจ ต้องมีการให้คำแนะนำพนักงานก่อนการตรวจอย่างครบถ้วนและถูกต้องทุกเคส มีการเชียร์พนักงานอย่างตั้งใจเพื่อให้เป่าให้ดีที่สุดในทุกเคส และต้องให้เป่า 3-8 ครั้งเพื่อให้สามารถเลือกผลที่ดีที่สุดมาแปลผลได้ (เป่าอย่างน้อยสามครั้ง  ข้อนี้สำคัญมากที่สุด โดยเฉพาะในกรณีที่จะตรวจเพื่อเฝ้าระวังโรคจากการทำงาน)


ทำไมต้องเป่าถึงสามครั้งถ้าเป่าครั้งเดียวก็ได้ผลที่น่าจะพอใจแล้ว ?

เป็นคำถามที่พบได้บ่อยทั้งจากพนักงาน และสถานประกอบการ ทั้งนี้หมอบีจะขอยกตัวอย่างของค่า FVC เพื่อให้เห็นภาพ เราจะเห็นว่าเกณฑ์ที่ใช้ตัดว่าปกติหรือผิดปกตินั้นจะตัดที่ FVC มากกว่า 80 %ของค่า Predicted แต่ถ้า 66-80 จะเป็นความผิดปกติแบบจำกัดการขยายตัวของปอดแบบเล็กน้อย

สมมติว่าปีนี้เป่าครั้งเดียว ได้ค่า FVC = 82 ซึ่งก็ผ่านเกณฑ์ แต่ถ้าเป่าอีกสองครั้ง เทคนิคการตรวจดีขึ้น เป่าได้ดีขึ้นอาจเป็น 90 หรือ 95 ก็ได้จะเห็นว่าการเป่าปอดสามครั้งจะทำให้ได้ค่าที่ดีที่สุด บ่อยครั้งที่ผลตรวจครั้งหลังจะดีกว่าครั้งแรกเพราะพนักงานได้ฝึกซ้อมสักนิดนึง และกล้าเป่ามากขึ้น

สมมติต่ออีกนิดว่าปีต่อมาเป่าได้ 80 ถ้าเป็นการเปลี่ยนแปลงจาก 82 เป็น 80 ก็คงไม่มากเท่าไหร่ แต่ถ้าเปลี่ยนแปลงจาก 95 มาเป็น 80 การลดลงอย่างมากนี้ย่อมต้องมีความหมายแน่นอน พนักงานอาจจะยังปกติไม่มีอาการโรคปอดให้เห็น แต่ก็สามารถได้รับการดูแลปรับสภาพงาน การดูแลการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันให้เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้แย่ลงไปได้อีก

บางครั้งการที่พนักงานบางคนเป่าปอดได้แค่ครั้งเดียวด้วยเหตุผลด้านสุขภาพส่วนตัวทำให้แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ผู้ทำการแปลผลต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนถึงความน่าเชื่อถือของการตรวจในครั้งนั้น และการเป่าปอดเพียงครั้งเดียวในพนักงานทุกคน ทุกเคสเพื่อเป็นการลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย โดยแลกกับการลดคุณภาพลง เป็นสิ่งที่ต่ำกว่ามาตรฐานในการตรวจสมรรถปอดด้วยวิธี Spirometry ที่ผู้ดำเนินการตรวจทุกราย ทุกวิชาชีพควรหลีกเลี่ยงนะครับ

เป็นอย่างไรบ้างครับการตรวจสมรรถภาพปอดด้วยวิธี Spirometry การใช้ผลการตรวจให้เกิดประโยชน์นั้นไม่ยากเลยครับ ขอเพียงมีความตั้งใจจริงที่จะทำให้พนักงานได้รับสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม หมอบีคิดว่า พนักงานแต่ละคนทำอะไรให้สถานประกอบการมากมาย คงจะไม่มากเกินไปที่จะดูแลสุขภาพพนักงานด้วยการตรวจสุขภาพให้พนักงานอย่างมีคุณภาพ และนำผลการตรวจไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับพนักงานเต็มที่ เห็นด้วยมั้ยครับ? สำหรับวันนี้สวัสดีครับ ^^
Share This Post :
Tags :

ติดตาม "หมอบี" ทาง Facebook

บทความใหม่ล่าสุด

[2][recent][recent][บทความใหม่ล่าสุด]

Social Media

Get update news from our social media.