Overwork ทำงานทะลุขีดจำกัด

สวัสดีครับวันนี้หมอบีจะมาพูดถึงประเด็นการทำงานมากเกินขีดจำกัดของร่างกาย (Overwork) คนเราไม่ว่าใครก็สามารถทำงานต่อเนื่องได้นานในระดับหนึ่ง แต่ละคนมีขีดจำกัดการทำงานที่ว่านี้แตกต่างกันเล็กน้อย บางคนมีโรคประจำตัวหรือภาวะสุขภาพบางอย่างทำให้มีขีดจำกัดที่ว่านี้ต่ำกว่าคนทั่วไป เมื่อทำงานต่อเนื่องกันนานเกินไปแน่นอนว่าประสิทธิภาพการทำงานย่อมลดลง โดย คุณภาพการตัดสินใจที่ลดลงอาจส่งผลให้เกิดปัญหาในการทำงานตามมาถึง 36%

ภาพจาก livingmeaningfully.blogspot.com

"In one study, interns working in the intensive care unit for 24 hours or longer made 36% more serious medical errors than those working shorter shifts."

การทำงานต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเกินไปอาจทำให้เกิดโรคบางอย่างเกิดขึ้นด้วย เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคกระเพาะ การแท้งบุตรในสตรีมีครรภ์

ตัวอย่างปัญหาเกี่ยวกับการทำงานต่อเนื่องนานเกินไป ถ้ามองจากประเด็นใกล้ตัววันนี้ จะเห็นว่าเรื่องของการเสียชีวิตคุณหมออายุน้อยหลายท่านที่ทำงานต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานเกินขีดจำกัดของร่างกาย

กราบหัวใจหมอหนุ่มอุทิศตน รักษาคนไข้จนตัวเองสิ้นลม

พบอีกราย! "หมอจบใหม่" ปอดติดเชื้อดับ ตอกย้ำใช้ทุนเข้าเวรเกิน 24 ชั่วโมงมีอยู่จริง

ผลงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าแพทย์ในประเทศไทยทำงานมากกว่าที่ผู้บริหารเข้าใจ หรือผู้บริหารไม่เคยเข้าใจว่าแพทย์จำนวนมากทำงานเกินกว่า 48-72 ชั่วโมงต่อเนื่องกัน



บางคนถูกบังคับทำงานล่วงเวลาโดยไม่สามารถเลือกได้ มากกว่า 20 เวรต่อเดือน โดยไม่เกี่ยวกับการหารายได้ เป็นการถูกกำหนดให้อยู่โดยพิจารณาจากความต้องการภายนอกเป็นสำคัญ


ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะพบว่ามีความจริงจังและเข้มงวดกับการทำงานต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเกินไป การปรับเพิ่มหรือลดชั่วโมงการทำงานต้องอิงตามหลักฐานวิชาการทางการแพทย์ประกอบ ต่างจากประเทศด้อยพัฒนาที่เอาความต้องการภายนอกอันไม่มีที่สิ้นสุดมาเป็นประเด็นสำคัญอันดับหนึ่งในการพิจารณา

ไม่เพียงแต่แพทย์เท่านั้นที่ประสบปัญหาภาระงานที่ถูกมอบหมายมากเกินกว่าขีดจำกัดของร่างกายจะแบกรับไหว พยาบาล เภสัชกร เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และตลอดจนอาชีพอื่นๆทั้งในและนอกวงการสาธารณสุข ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อีกเป็นจำนวนมากที่มีประสบการณ์ที่เจ็บปวดจากการทำงานที่มากเกินไป ประเด็นที่สำคัญในงานด้านอาชีวอนามัยคงเป็นเรื่องที่แต่ละองค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน มีการกำหนดตัวบทกฎหมายเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานต่อเนื่องนี้ชัดเจนขนาดไหน

ที่ญี่ปุ่นการทำงานล่วงเวลามากเกินไป (มากกว่า 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) เป็นเหตุให้เกิดความเครียดสะสมจนทำให้เสียชีวิตได้ (Karoshi = Death by Overwork) โดยพบว่ามักเสียชีวิตจากโรคหัวใจ โรคเส้นเลือดสมอง หรือภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน แม้ว่าจะเป็นผู้มีอายุน้อยที่เพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่นาน ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงของโรคข้างต้นแต่อย่างใด

ภาพการเสียชีวิตของวัยแรงงานอายุน้อยจากการทำงานมากเกินไป (Karoshi) 
จาก http://liveworkanywhere.com

หมอบีแนะนำว่าทุกองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนควรพิจารณาข้อกำหนดชั่วโมงการทำงานเหล่านี้ เพื่อประสิทธิภาพในการทำงานและสุขภาพของคนทำงานครับ

1.มีข้อห้ามชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ไม่เกิน 60 ชั่วโมง

2.มีข้อห้ามระยะเวลาการทำงานต่อเนื่องกันต่อครั้งไม่เกิน 24 ชั่วโมง

3.ถ้าทำงานต่อเนื่องกัน 24 ชั่วโมง หรือทำงานกะดึกเสร็จแล้ว ต้องจัดเวลาให้พักผ่อนอย่างน้อย 8-12 ชั่วโมง

4.มีข้อห้ามการทำงานล่วงเวลาไม่เกินเดือนละ 45 ชั่วโมง

5.ผู้ที่มีอายุมาก เช่นมากกว่า 40-50 ปีขึ้นไป ควรจำกัดชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์และการทำงานต่อเนื่องกันต่อครั้งที่เข้มงวดขึ้น

6.หากจำเป็นต้องมีการทำงานเกินกว่าที่กำหนดไว้ต้องมีมาตรการให้เซ็นเอกสารยินยอมของผู้ปฏิบัติงานเป็นรายครั้ง โดยผู้ปฏิบัติงานมีสิทธิปฏิเสธได้โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลและไม่มีความผิดทางวินัย และไม่ควรมีการทำงานเกินกว่าที่กำหนดเกิดขึ้นมากกว่าเดือนละ 1-2 ครั้ง

7.จัดตั้งกองทุนสุขภาพเพื่อดูแลรักษาและเยียวยาผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดจากการทำงานเกินข้อกำหนดชั่วโมงการทำงาน


ตัวอย่างข้อกำหนดชั่วโมงการทำงานฉบับร่าง ถ้ามีการบังคับปรับใช้ได้จริงน่าจะเป็นผลดีกับผู้ปฏิบัติงานนะครับ


โจทย์ที่น่าสนใจคือ

"เมื่อมีภาระงานมากแต่ผู้ปฏิบัติทำงานได้ไม่เพียงพอกับความต้องการแม้ว่าจะทำอย่างสุดความสามารถแล้ว จะฝ่าทางออกได้อย่างไร?"


คำตอบนั้นคงไม่มีทางออกที่ตายตัว แต่ที่พอเป็นไปได้คือ

1.ลดภาระงานส่วนที่มีความจำเป็นน้อยกว่า เช่น ในกรณีของบุคลากรทางการแพทย์ภาครัฐที่มีจำกัด ถ้าจัดลำดับความสำคัญของงานภาครัฐอย่างจริงจังจะพบว่า งานที่อาจตัดออกได้เพื่อลดภาระของผู้ปฏิบัติคือการดูแลผู้ป่วยอาการไม่ฉุกเฉินที่มารับบริการนอกเวลาราชการ โดยอาจจัดให้เป็นคิวรอตรวจในเวลาราชการในวันถัดไป ผู้มารับบริการอาจไม่สะดวกแต่ควรยอมรับได้ว่าเป็นกรณีที่ไม่เร่งด่วนรอได้ สิ่งสำคัญของทางเลือกนี้คือต้องกำหนดขอบเขตความสามารถในการทำงานของบุคลากรให้ชัดเจนและยอมรับว่าทำได้ปริมาณงานมากน้อยแค่ไหน ก่อนที่จะมาพิจารณาความต้องการทั้งหมดของงาน แล้วจึงร่วมกันจัดลำดับของภาระงานที่สำคัญเพื่อปฏิบัติ

2.ลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็นออกไป หรือที่เรียกว่า LEAN เช่นการจดบันทึกเอกสารที่เขียนลงบนกระดาษแล้วมากรอกลงคอมพิวเตอร์ในภายหลัง ถ้าคีย์ลงคอมครั้งเดียวนอกจากจะลดภาระงานได้แล้วยังช่วยลดโอกาสเกิดความผิดพลาดจากการคัดลอกได้อีกด้วย

3.การใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมต่างๆเข้าช่วยในการทำงาน ลดภาระของคนทำงานและเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 - 5.0

"คนที่ทำงานเกินขีดจำกัดควรได้รับการปฏิบัติแบบเดียวกับคนที่ไม่สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันตามที่กำหนดขณะทำงานหรือแบบเดียวกับคนที่ทำงานขับรถขณะมึนเมาสุรา"

4.ร่วมกันสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องในสังคม การที่บางคนทำงานมากกว่าคนอื่นมากกว่าเกณฑ์มาตรฐานแล้วถูกมองว่า "เสียสละ" เป็นคนดี แต่ในอีกมุมมองหนึ่งคือการรังแกเพื่อนร่วมวิชาชีพคนอื่นให้ต้องทำงานเกินขีดจำกัดของตัวเองไปด้วย ดังนั้นคนที่ทำงานเกินขีดจำกัดจึงไม่ควรได้รับคำชมเชยแต่ควรถูกตักเตือนลงโทษเพราะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของตนเองและผู้อื่น

5.เพิ่มจำนวนผู้ปฏิบัติ อันนี้แก้ไขปัญหาแบบตรงจุดที่สุดแล้ว เมื่อคำนวณภาระงานจริงได้ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต แล้วเทียบกับขอบเขตความสามารถในการทำงานของบุคลากรแต่ละคน มาใช้พิจารณาว่าต้องมีผู้ปฏิบัติงานจริงกี่คนจึงจะเพียงพอแล้วรับเพิ่มจนเต็มจำนวน สร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมให้คนเข้ามาในองค์กรแล้วอยู่ได้นาน

"การจัดสรรงบประมาณและสนับสนุนบุคลากรให้เพียงพอสอดคล้องกับความต้องการของผู้มารับบริการเป็นความรับผิดชอบของผู้บริหาร"

6.เช่นเดียวกับงานอาชีวอนามัยอื่นๆ ผู้บริหารมีส่วนสำคัญในการรับผิดชอบผลักดันทีมงาน การที่ผู้บริหารยอมรับว่ามีปัญหา รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย และกล้าตัดสินใจแก้ไขปัญหาเพื่อปกป้องสุขภาพของลูกทีมเป็นกุญแจสำคัญไปสู่ความสำเร็จ

ประเด็นสุดท้ายที่หมอบีอยากฝากให้ช่วยกันคิดต่อนะครับ คือ ถ้าองค์กรที่เราทำงานอยู่มีข้อกำหนดการทำงานข้างต้นแล้ว แต่ตัวของเราเองในฐานะเจ้าของสุขภาพประสงค์ที่จะทำงานเกินเวลาที่กำหนดไว้ (เพราะแต่ละคนมีขีดจำกัดการทำงานที่ว่านี้แตกต่างกันและมีความต้องการหรือความจำเป็นที่แตกต่างกัน) อาจเป็นการทำล่วงเวลาในที่ทำงานหลัก อาชีพเสริม หรือธุรกิจส่วนตัวจะหาระดับที่พอดีกับสุขภาพของตัวเราเอง ไม่หักโหมทำงานมากจนเกินไป และไม่เป็นการรังแกเพื่อร่วมงานด้วยคำว่า "เสียสละ" ได้อย่างไร? และอย่าลืมแบ่งเวลาออกกำลังกาย พักผ่อนทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อให้สดชื่นพร้อมที่จะกลับมาทำงานต่อได้อย่างมีคุณภาพด้วยครับ

"องค์กรอยู่กับเราจนวันที่เราออกจากงาน แต่สุขภาพอยู่กับเราตลอดไป"

อ่านบทความอื่นของหมอบีได้ที่นี่ครับ www.doctor-bee.net


Share This Post :
Tags : , ,

ติดตาม "หมอบี" ทาง Facebook

บทความใหม่ล่าสุด

[2][recent][recent][บทความใหม่ล่าสุด]

Social Media

Get update news from our social media.