WORKING AT HEIGHT ตรวจสุขภาพอย่างไรทำงานปลอดภัยบนที่สูง?

สวัสดีครับ วันนี้หมอบีจะมาชวนคุยเรื่อง การทำงานบนที่สูง (Working at Height) เชื่อว่าแต่ละโรงงาน รวมทั้งสถานประกอบกิจการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ จะต้องมีการทำงานบนที่สูงมาเกี่ยวข้อง ที่สำคัญคือการสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยเต็มสูบสำหรับการทำงานบนที่สูง อันนี้ปรึกษาเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยประจำหน่วยงานจัดการได้เลยครับ แต่ส่วนที่หมอบีจะมาชวนคุยวันนี้คือ โรคต้องห้ามสำหรับการทำงานบนที่สูง ว่ามีอะไรบ้าง? สมรรถภาพร่างกายที่จำเป็นในการทำงานบนที่สูงคืออะไร? และสุดท้าย

เราจะประเมินได้อย่างไรว่าพนักงานคนใดพร้อมที่จะทำงานบนที่สูง?

แน่นอนครับว่าสำหรับผู้ที่เป็นโรคกลัวความสูง (Acrophobia) คงทำงานบนที่สูงได้ไม่ค่อยดีนัก แต่โรคอื่นๆที่ควรตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะทำงานบนที่สูง เช่น โรคของหูชั้นในและโรคระบบประสาท ที่อาจทำให้การทรงตัวผิดปกติ ยิ่งเจอสภาพโคลงเคลงบนที่สูง ลมพัดแรงๆ แล้วด้วย ยิ่งอาจทำให้เกิดอันตรายได้ง่ายกว่าคนปกติ หรือหากมี โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด หรือ โรคลมชัก แล้วมีอาการกำเริบระหว่างอยู่บนที่สูงคงจะช่วยเหลือได้ลำบาก

การซักประวัติโรคประจำตัวของผู้ที่ทำงานบนที่สูงควรครอบคลุมกลุ่มโรคที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานให้ครบถ้วน

สำหรับสมรรถภาพร่างกายที่จำเป็นนั้น ความสามารถในการทรงตัวนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการทำงานบนที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องมีกิจกรรมระหว่างอยูบนที่สูง เช่น เช็ดกระจก ก่อสร้าง หรือเดินบนทางแคบๆ การทรงตัวที่ดีช่วยลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุระหว่างการทำงานบนที่สูงได้ หรือในทางกลับกัน ผู้ที่มีการทรงตัวที่ไม่ค่อยดีนักมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุตกจากที่สูงได้ง่ายกว่านั่นเอง

ภาพการเช็ดกระจกบนที่สูงจาก https://world.kapook.com/pin/4ff69d5838217a0e7b000001

แพทย์สามารถตรวจร่างกายเพื่อประเมินความสามารถในการทรงตัวได้หลายวิธี หนึ่งในนั้นคือการตรวจ Romberg Test (standing) การตรวจทำได้ง่ายมากครับ เพียงให้ผู้เข้ารับการตรวจยืนนิ่งแขนแนบลำตัวลืมตาไว้ประมาณครึ่งถึงหนึ่งนาที จากนั้นให้หลับตายืนต่อไปอีกหนึ่งนาที หากไม่สามารถทรงตัวอยู่นิ่งได้แสดงว่าอาจมีโรคประจำตัวบางอย่างที่ทำให้การทรงตัวผิดปกติ ควรหลีกเลี่ยงการทำงานบนที่สูง

นอกจากการทำงานบนที่สูงแล้วหากเป็นงานที่ยืนนานๆและต้องอาศัยการทรงตัวที่ดี เช่น การขับรถโฟล์คลิฟท์ในท่ายืน ควรพิจารณาให้มีการตรวจร่างกายนี้ด้วยครับ



ข้อจำกัดของ Romberg's Test คือเป็นการวัดสมรรถภาพการทรงตัวอยู่นิ่งๆ อยู่กับที่เท่านั้น แต่หากการทำงานบนที่สูงมีความจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายที่ระหว่างการทำงานบนที่สูง โดยเฉพาะถ้ามีทางเดินแคบๆทรงตัวยากแล้วละก็ควรมีการตรวจ ความสามารถในการทรงตัวระหว่างการเดิน เพิ่มเติมด้วยครับ

นอกจากการทรงตัวแล้วความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อก็มีความสำคัญหากมีมวลกล้ามเนื้อน้อยมากอาจเป็นอุปสรรคในการปีนป่ายขึ้นไปทำงานบนที่สูง อย่างไรก็ตามคงไม่ถึงขนาดที่จะแนะนำให้คนที่มีมวลกล้ามเนื้อน้อยไม่ให้ทำงานบนที่สูง แต่แนะนำให้ออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อเป็นประจำดีกว่า

เป็นอย่างไรบ้างครับ รู้สึกมั่นใจในการทำงานบนที่สูงมากขึ้นแล้วหรือยังครับ สุดท้ายนี้ หมอบี อยากแนะนำให้การทำงานบนที่สูงของทุกคนเป็นไปด้วยความปลอดภัย ซึ่งจะเป็นไปได้ต่อเมื่อ อุปกรณ์(คุ้มครองความปลอดภัย)ต้องพร้อม สภาพร่างกายก็ต้องพร้อม(ตรวจประเมินสุขภาพ) และใจยิ่งต้องพร้อมด้วย (ไม่ประมาท)นะครับ



อ่านบทความด้านอาชีวอนามัยอื่นๆที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ www.doctor-bee.net นะครับ
Share This Post :
Tags : , ,

ติดตาม "หมอบี" ทาง Facebook

บทความใหม่ล่าสุด

[2][recent][recent][บทความใหม่ล่าสุด]

Social Media

Get update news from our social media.