Biomarker การเลือกตรวจสารเคมีในร่างกาย

หมอบีเชื่อว่าหลายๆสถานประกอบการที่มีการใช้สารเคมีอันตรายจัดรายการตรวจสุขภาพประจำปี หรือที่เรียกว่าตรวจตามปัจจัยเสี่ยงให้มีการตรวจสารเคมีในเลือด สารเคมีในปัสสาวะ หรือสารเคมีในสารคัดหลั่งอื่นๆให้กับพนักงานในการตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน และการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่อาจจะยังไม่รู้ว่าประโยชน์ที่แท้จริงของการตรวจคืออะไรและ

ควรตรวจอย่างไรเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดกับพนักงานและคุ้มค่าที่สุดกับสถานประกอบการ

ก่อนจะอ่านรายละเอียดกันต่อแนะนำให้ไปกดไลค์ที่แฟนเพจ DoctorBee กันก่อนนะครับจะได้รู้จักกันครับ ^^


การตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงหรือการตรวจตามความเสี่ยงนั้น เราควรคิดเสมอว่าเป็นการตรวจเพื่อเพื่อเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพของพนักงานที่ทำงานกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆในการทำงาน หรือก็คือเฝ้าระวังโรคจากการทำงานนั่นเอง 

การเฝ้าระวังโรคจากการทำงานนั้นทำได้หลากหลายวิธีครับ นอกเหนือจากการตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน และตรวจประจำปีแล้ว เรายังสามารถตรวจวัดสิ่งแวดล้อมในการทำงานเพื่อดูว่าสภาพแวดล้อมในการทำงานมีความปลอดภัยหรือไม่ มีสารเคมีอันตรายเจือปนในอากาศเข้มข้นในระดับที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้หรือไม่ หรืออาจจะเก็บข้อมูลการเจ็บป่วยหรือโรคจากการทำงานที่เกิดขึ้นแล้วและสืบย้อนกลับไปหาสาเหตุจากการทำงานต่อไป เช่น การเก็บข้อมูลการบาดเจ็บของโรคกระดูกและกล้ามเนื้อของพนักงาน เมื่อพบว่ามีบางแผนกที่มีปัญหาสุขภาพบ่อยแล้วค่อยย้อนกลับไปว่าในแผนกนั้นๆมีความเสี่ยงทางด้านการยศาสตร์อะไรที่ทำให้เกิดโรคเพื่อดำเนินการแก้ไข


ภาพห้องปฏิบัติการตรวจ ฺBiomarker จาก www.genengnews.com

จะเห็นได้ว่าการตรวจสุขภาพเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเฝ้าระวังโรคจากการทำงาน และการตรวจสารเคมีในเลือด สารเคมีในปัสสาวะ หรือสารเคมีในสารคัดหลั่งต่างๆนั้น ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการตรวจสุขภาพเท่านั้น

การตรวจสุขภาพ การตรวจสภาพแวดล้อมในการทำงาน และการเก็บข้อมูลการเจ็บป่วยของพนักงาน ควรทำควบคู่กันไปอย่างเป็นระบบมีเหตุผลในการกระทำ มีการนำข้อมูลกลับมาวิเคราะห์อย่างเหมาะสม จึงจะได้ข้อมูลความเสี่ยงในการเกิดโรคจากการทำงานที่แท้จริงและนำไปสู่การดำเนินการป้องกันหรือที่เรียกว่า การจัดการความเสี่ยง ที่ตรงประเด็นปัญหาสุขภาพของพนักงานอย่างแท้จริง

เรากลับมาคุยกันเรื่องการตรวจสารเคมีในเลือด สารเคมีในปัสสาวะ หรือสารเคมีในสารคัดหลั่งอื่นๆกันต่อนะครับ เนื่องจาก สารเคมีส่วนใหญ่จะเข้าสู่ร่างกาย แล้วถูกแปรสภาพที่ตับให้เป็นตัวที่ออกฤทธิ์ หรือตัวที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้หลายๆตัว เราเรียกสารเคมีที่ถูกแปรสภาพภายในร่างกายนี้ว่าสารเมตาบอไลท์ (Metabolite) ซึ่งจะไหลเวียนไปสู่อวัยวะต่างๆของร่างกายโดยผ่านระบบเลือดและน้ำเหลือง สารเคมีสามารถไปสะสมอยู่ที่อวัยวะต่างๆได้ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อ ชั้นไขมัน หรือแม้แต่สมอง และอาจออกฤทธิ์ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ ท้ายสุดแล้วร่างกายจะขับสารเคมีออกจากร่างกายได้หลายทาง เช่น ไตกรองสารเคมีออกมาทางปัสสาวะ ปอดขับสารเคมีในเลือดออกทางลมหายใจออก ตับขับสารเคมีมาในน้ำดีผสมออกมาทางอุจจาระทั้งหมดนี้ทำให้เราสามารถตรวจสารเคมีตัวหนึ่งได้ในหลายฟอร์ม หรือหลายรูปแบบมากทั้งตัวสารเคมีตั้งต้น และสารเมตาบอไลท์ 

เราสามารถตรวจสารเคมีได้ทั้งจากเลือด ปัสสาวะ สารคัดหลั่งในร่างกายต่างๆ หรือแม้แต่ในเนื้อเยื่อของร่างกายโดยตรงแล้วแต่ชนิดของสารเคมี

ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้คือ บ่อยครั้งที่สถานประกอบการเลือกตรวจสารเคมีต่างๆได้ไม่เหมาะสม สาเหตุมักมาจากข้อจำกัดที่แก้ไขไม่ได้ แต่หลายๆครั้งก็เป็นข้อจำกัดที่เราสามารถจัดการได้ไม่ยากครับ
สถานประกอบการมักไม่มีความรู้ในการเลือกตรวจสารเคมีจึงนิยมให้บริษัทตรวจสุขภาพออกแบบรายการตรวจสุขภาพ และเลือกสารเคมีที่จะทำการตรวจในพนักงานให้ซึ่งการจะให้บริษัทตรวจสุขภาพดูแลให้

บริษัทตรวจสุขภาพอาจให้ผู้ออกแบบรายการตรวจสุขภาพที่ไม่มีความรู้จริงมาออกแบบให้ เช่น แพทย์ทั่วไป แพทย์อาชีวเวชศาสตร์หลักสูตรระยะสั้น หรือบางครั้งอาจเป็นพนักงานขายที่ไม่ใช่แพทย์ อันนี้แก้ไม่ยากครับทางสถานประกอบการ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย หรือฝ่ายบุคคลคงต้องมีการกำหนดในรายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้างให้ชัดเจนว่า 

ผู้ออกแบบรายการตรวจสุขภาพนั้นควรเป็นแพทย์อาชีวเวชศาสตร์เท่านั้น 

โดยอาจจัดจ้างแพทย์เพื่อออกแบบรายการตรวจสุขภาพเป็นการเฉพาะ หรือจัดจ้างเป็นแพทย์ปรึกษาประจำสถานประกอบการครับ



ตรวจสอบรายชื่อแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ได้ที่ www.tmc.or.th/service_check_doctor.php นะครับ

นอกจากนี้หลายๆสถานประกอบการมักจะให้แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ออกแบบรายการตรวจสุขภาพเพียงครั้งเดียวแล้วใช้ไปตลอดจนกว่าจะปิดกิจการกันไปข้างนึงครับ 

แต่ความจริงแล้วรายการตรวจสุขภาพอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลานะครับ เช่น ถ้ามีการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตมีหน้างานใหม่เกิดขึ้นก็มีความเสี่ยงใหม่ๆเกิดขึ้นอาจต้องมีรายการตรวจมากขึ้น หรือถ้ามีการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ปลอดภัยแล้วก็สามารถปรับรายการตรวจสุขภาพได้ หรือถ้ามีข้อมูลผลการตรวจวัดสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง หรือมีข้อมูลผลการตรวจสุขภาพใหม่ๆเพิ่มมาในแต่ละปีแล้วเราสามารถปรับเพิ่มหรือลดรายการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงให้เหมาะสมได้ครับ

สำหรับการเลือกตรวจสุขภาพสำหรับพนักงานที่สัมผัสสารเคมีหนึ่งๆนั้น เราควรมีแนวทางการประเมินก่อนการออกแบบรายการตรวจสุขภาพดังนี้ครับ ก่อนอื่นต้องเดินสำรวจสถานประกอบการเพื่อหาข้อมูลจากหน้างานก่อน จะได้รู้ว่าพนักงานมีลักษณะการทำงานกันอย่างไร สัมผัสสารเคมีวันละกี่ชั่วโมง สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอย่างเหมาะสมแล้วหรือไม่ เสร็จแล้วก็มา ศึกษาข้อมูลผลการตรวจวัดสิ่งแวดล้อม และข้อมูลผลการตรวจสารเคมีและผลการตรวจสุขภาพปีที่ผ่านๆมา จากนั้นแพทย์อาชีวเวชศาสตร์จะนำข้อมูลทั้งหมดมาประเมินความเสี่ยงในการทำงานสัมผัสสารเคมีก่อนที่จะออกแบบรายการตรวจสุขภาพออกมาครับ

ถ้าความเสี่ยงมากก็ควรมีการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงหลายรายการ หรือถ้าความเสี่ยงน้อยก็ตรวจน้อยรายการได้ครับ แต่การประเมินความเสี่ยงนั้นเราจะต้องทำให้ครอบคลุมอย่างสมบูรณ์นะครับ แนะนำนะครับว่า


ไม่ควรใช้ผลการตรวจวัดสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวมาประเมินความเสี่ยง
 และ
ไม่ควรใช้ผลการตรวจวัดสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวมากำหนดรายการตรวจสุขภาพ

เราต้องเข้าใจดังนี้ก่อนครับว่าสารเคมีสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทาง การหายใจ การกิน และการดูดซึมทางผิวหนังหรือเยื่อบุต่างๆ 


ภาพแสดงช่องทางที่สารเคมีเข้าสู่ร่างกาย จาก www.pan-uk.org

สำหรับการตรวจวัดสิ่งแวดล้อม หรือก็คือการตรวจวัดระดับของสารเคมีในอากาศนั้นจะเชื่อมโยงได้กับการสัมผัสสารเคมีทางการหายใจเท่านั้น นั่นก็คือถึงแม้ผลการตรวจวัดสิ่งแวดล้อมจะปกติ แต่พนักงานก็อาจสัมผัสสารเคมีจากการทำงานผ่านช่องทางอื่นๆได้ครับ 

อีกประเด็นเลยนะครับคือสารเคมีบางอย่างเป็นสารก่อมะเร็งครับ หลักฐานทางวิชาการแพทย์ระบุว่า


การสัมผัสสารก่อมะเร็งแม้เพียงเล็กน้อย หรือสัมผัสเพียงครั้งเดียวก็สามารถกระตุ้นให้ร่างกายเกิดเซลล์มะเร็งและเป็นโรคมะเร็งต่อไปในอนาคตได้

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้อาจใช้ระยะเวลานาน 5 ปี 10 ปี หรือถ้าเป็นกรณีของมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจากแร่ใยหินอาจนานถึง 20 ปีได้ครับ ลองคิดกันดูนะครับว่าถ้าพนักงานทำงานกับสารก่อมะเร็งแล้วเราเชื่อผลการตรวจวัดสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวไม่สนใจผลการตรวจสุขภาพ พนักงานอาจจะสัมผัสสารเคมีจากช่องทางอื่นในการทำงานก็ได้ ถ้าวันหนึ่งพนักงานกลายเป็นโรคมะเร็งจากสารเคมีขึ้นมาจะเป็นอย่างไร?

ภาพโรคปอดจากการสัมผัสแร่ใยหิน จาก www.viviennebalonwu.com

ผลการตรวจวัดสิ่งแวดล้อมนั้นสามารถนำมาใช้ประกอบการประเมินความเสี่ยงในการทำงานได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นแต่ไม่ใช่การประเมินความเสี่ยงที่สมบูรณ์

คงต้องอธิบายตั้งต้นก่อนว่าเราจะรู้ได้ว่าพนักงานกลุ่มนี้เสี่ยงเป็นโรคจากการทำงานได้จากการประเมินลักษณะการทำงานว่ามีสิ่งคุกคาม มีสารเคมีอะไรบ้าง มีผลตรวจวัดสารเคมีในสิ่งแวดล้อมอย่างไร มีผลการตรวจวัดสารเคมีในสารคัดหลั่งของร่างกายเป็นอย่างไร และยังสามารถประเมินได้จากผลการตรวจความเปลี่ยนแปลงหรือความผิดปกติของร่างกายได้อีกทาง ดังนั้นถ้าใช้แต่ผลการตรวจวัดสิ่งแวดล้อมมาประเมินความเสี่ยงโดยไม่สนใจผลการตรวจสารเคมีจากสิ่งคัดหลั่งของร่างกาย และผลการตรวจสุขภาพอื่นๆจะทำให้การประเมินความเสี่ยงนั้นไม่สมบูรณ์ครับ

จะเห็นได้ว่าการสัมผัสสารเคมีวันนี้ไม่ใช่ว่าจะต้องเจ็บป่วยเป็นพิษจากสารเคมีวันนี้ แต่ก็อาจเป็นได้เหมือนกันสำหรับสารเคมีบางตัวในบางกรณีนะครับ แต่สารเคมีหลายๆตัวกว่าจะก่อให้เกิดโรคใช้ระยะเวลาเป็นวัน เป็นสัปดาห์ หรือเป็นปีอันนี้เรียกว่าระยะเวลาในการฟักตัวของโรค ซึ่งต้องใช้ความรู้ทางด้านการแพทย์ และความรู้ด้านพิษวิทยาที่แพทย์อาชีวเวชศาสตร์เรียนในหลักสูตรปริญญาโท และในหลักสูตรแพทย์ประจำบ้าน

ปกติบริษัทตรวจสุขภาพพอตรวจเสร็จจะส่งผลสรุปให้ทางสถานประกอบการไว้แต่มักจะไม่มีใครดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลการตรวจสุขภาพต่ออย่างเหมาะสมครับ ทำให้ผลการตรวจสุขภาพพนักงานที่ลงทุนตรวจไปปีละหลายๆล้านบาทไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เป็นเรื่องที่น่าเสียดายครับ ผมขอแนะนำอย่างนี้นะครับว่า

แพทย์ที่ออกแบบรายการตรวจสุขภาพกับแพทย์ที่วิเคราะห์ผลการตรวจสุขภาพนั้นควรเป็นแพทย์ท่านเดียวกัน

ทั้งนี้เพราะหมอบีจะเจอเหตุการณ์ที่เกิดจากการตรวจสุขภาพจากที่อื่นแล้วมีปัญหา พอพนักงานหรือสถานประกอบการมาปรึกษาเกี่ยวกับผลตรวจที่ผิดปกติก็ลำบากใจเพราะไม่แน่ใจว่าแพทย์ที่กำหนดรายการตรวจสุขภาพแบบนั้นแบบนี้ออกมาด้วยเหตุผลอะไร ทำไมให้ตรวจบางรายการที่แปลกๆ และน่าจะผิดหลักวิชาการอย่างมากครับ คราวหน้าจะมาชวนคุยต่อเรื่องการควบคุมคุณภาพการตรวจสุขภาพเพื่อที่จะได้มีผลการตรวจที่สามารถนำไปวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ได้กันครับ

เชิญทำความรู้จักกับหมอบีได้ที่นี่ครับ รู้จักกับ"DOCTOR BEE"


หรือติดต่อหมอบีเชิญที่นี่เลยครับ ติดต่อ "DOCTOR BEE"

Share This Post :
Tags : ,

ติดตาม "หมอบี" ทาง Facebook

บทความใหม่ล่าสุด

[2][recent][recent][บทความใหม่ล่าสุด]

Social Media

Get update news from our social media.