พารามิเตอร์การตรวจสุขภาพน่ารู้ 1 การทำงานของไต

สวัสดีครับ วันนี้หมอบีจะมาแนะนำรายการตรวจสุขภาพประจำปียอดนิยมที่เชื่อว่าเกือบทุกคนจะเคยตรวจรายการนี้มาแล้ว ได้แก่การตรวจการทำงานของไตครับ

การทำงานของไต สามารถตรวจได้จากเลือดโดยดูจากค่าครีอะตีนีน Creatinine (Cr) และค่ายูเรียไนโตรเจน Blood Urea Nitrogen (BUN) โดยจะมีค่าปกติของทางห้องแลปแนบมาให้

ค่าครีอะตีนีน เกิดจากการใช้พลังงานของกล้ามเนื้อ ร่างกายผลิตอยู่ตลอดเวลาและขับออกทางไต หากไตมีปัญหาไม่สามารถขับออกได้จะทำให้เกิดการคั่งของสารครีอะตีนีนขึ้นในเลือดได้ครับ เนื่องจากในผู้ชายมีกล้ามเนื้อมากกว่าจึงมีการสร้างครีอะตีนีนมากกว่าผู้หญิง และมีค่ามาตรฐานที่สูงกว่าครับ

สำหรับค่ายูเรียไนโตรเจนเกิดจากการย่อยสลายสารโปรตีนที่ตับเกิดเป็นสารแอมโมเนีย และเปลี่ยนจากแอมโมเนียเป็นยูเรีย เพื่อทำการขับออกที่ไตต่อไป ทั้งนี้ยูเรียเป็นของเสียที่ร่างกายสร้างขึ้นมาและในยูเรียมีส่วนประกอบของไนโตรเจนครับ ในผู้ป่วยโรคไตที่มีปัญหาการขับของเสียออกทางไตจะมีการคั่งของยูเรียไนโตรเจนนี้ในเลือดทำให้อวัยวะต่างๆทำงานผิดปกติ บางครั้งอาจหมดสติหรือเสียชีวิตได้

โดยทั่วไปค่าครีอะตีนีนจะมีค่าไม่เกิน 1-1.2 และค่ายูเรียมีค่าไม่เกิน 20 ทั้งนี้ห้องปฏิบัติการแต่ละแห่งอาจมีค่ามาตรฐานของแลปแตกต่างกันได้เล็กน้อย เมื่อทำการตรวจที่ไหนจึงควรเทียบกับค่ามาตรฐานของที่นั้นเป็นสำคัญครับ

ภาพไตสองข้างจาก https://www.wisegeek.com/what-is-nephrotoxicity.htm

หากตรวจและพิจารณาค่าการทำงานของไตจากค่าครีอะตีนีนและค่ายูเรียไนโตรเจนเป็นสำคัญบ่อยครั้งจะพบผู้ที่คัดกรองมีความผิดปกติค่อนข้างช้า คือการทำงานของไตลดลงมากแล้วค่อยพบความผิดปกติของค่าดังกล่าว สำหรับการเฝ้าระวังโรคไตที่มีประสิทธิภาพอีกตัวหนึ่งที่ควรพูดถึงคือ Estimated Glomerular Filtration Rate (eGFR) ซึ่งได้จากการคำนวณ และ Creatinine Clearance (CrCl) 

eGFR คือค่าอัตราการกรองของไตที่ได้จากการคำนวณค่าครีอะตีนีนด้วยสมการสามารถบอกประสิทธิภาพการทำงานของไตได้อย่างแม่นยำ ช่วยให้ตรวจพบผู้ป่วยโรคไตในระยะแรกเริ่มได้ สมการประกอบด้วยค่าครีอะตีนีน อายุ เพศ สัญชาติ และน้ำหนัก

สมการMDRD คำนวณ eGFR (ml/min/1.73 m2) = 186 x (Scr : mg/dl)-1.154 x (age)-0.203 x (0.742 if female) x (1.210 if African American)

สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยแนะนำให้แบ่งระยะของโรคไตเป็นห้าระดับดังนี้


สำหรับการตรวจสุขภาพประจำปีและการตรวจตามปัจจัยเสี่ยงในการทำงาน หมอบีแนะนำว่าควรแบ่งการทำงานของไตออกเป็นสามกลุ่มได้แก่

1.การทำงานของไตปกติ eGFR >= 90

2.การทำงานของไตลดลงเล็กน้อย eGFR 60-89
ควรให้แพทย์อาชีวเวชศาสตร์หรือแพทย์ทั่วไปซักประวัติและตรวจร่างกายหาอาการและอาการแสดงของโรคไต หากพบความผิดปกติควรส่งพบแพทย์อายุรกรรมโรคไต และค้นหาสาเหตุของโรคไตที่อาจเกิดจากการทำงาน เช่นการสัมผัสสารเคมีต่างๆ

3.การทำงานของไตลดลงปานกลางถึงมาก eGFR <60
ควรส่งพบแพทย์อายุรกรรมโรคไต ตรวจติดตามอาการและรับการรักษาทันที และค้นหาสาเหตุของโรคไตที่อาจเกิดจากการทำงาน เช่นการสัมผัสสารเคมีต่างๆ

สารเคมีที่อาจเป็นพิษต่อไต ได้แก่ ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม โทลูอีน ซิลิก้า โครเมียม พาราควอท และคลอโรฟอร์ม เป็นต้น
อ่านรายละเอียดโรคไตจากการทำงานสัมผัสสารเคมีเพิ่มเติมได้ที่ https://www.haz-map.com/renal.htm

CrCl เป็นอัตราการขับครีอะตีนีนออกทางไต สามารถหาได้จากการเก็บปัสสาวะ 24 ชั่วโมง วึ่งค่อนข้างยุ่งยาก แต่สามารถคำนวณได้จากสมการเช่นเดียวกับ eGFR และใช้แทนกันได้ แพทย์หลายท่านนิยมสมการนี้เพราะคำนวณง่ายกว่าแต่ความแม่นยำน้อยกว่าสมการ eGFR เล็กน้อย และมักคำนวณได้ค่าที่สูงกว่า eGFR จริงประมาณ 10-20%

สมการ Cockcroft-Gault คำนวณ Creatinine Clearance (ml/min) = (140 – age) x (Wt in kg) x (0.85 if female) / (72 x Scr : mg/dl)

โดยสรุปหมอบีแนะนำว่าควรเฝ้าระวังโรคไตจากการตรวจสุขภาพประจำปีและตรวจตามปัจจัยเสี่ยงด้วยการตรวจครีอะตีนีนและคำนวณหาค่า eGFR ซึ่งทางสถานประกอบการสามารถระบุในสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างให้ผู้ให้บริการตรวจสุขภาพคำนวณสมการ MDRD หาค่านี้ให้พนักงานทุกราย และแบ่งกลุ่มตามที่แนะนำเพื่อการดำเนินการกับผลตรวจสุขภาพที่ผิดปกติต่อไปได้เลยครับ
Share This Post :
Tags : ,

ติดตาม "หมอบี" ทาง Facebook

บทความใหม่ล่าสุด

[2][recent][recent][บทความใหม่ล่าสุด]

Social Media

Get update news from our social media.