ฉีดวัคซีนก่อนการเดินทาง

สวัสดีครับ สำหรับวันนี้หมอบีจะมาชวนคุยเกี่ยวกับ การเตรียมสุขภาพพนักงานให้พร้อมก่อนการเดินทางไปต่างประเทศ แน่นอนครับว่าสถานประกอบการหลายๆแห่งจะต้องส่งพนักงานไปต่างประเทศอยู่เรื่อยๆ บางแห่งมีบริษัทแม่อยู่ต่างประเทศยิ่งต้องเดินทางบ่อย การเตรียมสุขภาพของคนที่จะเดินทางไปต่างประเทศจะช่วยให้ไปถึงแล้วทำงานได้เต็มที่ และไม่ไปติดเชื้อโรคบางอย่างกลับมา

ภาพการเดินทางไปต่างประเทศจาก www.onegum.eu

หลายๆประเทศจะมีข้อกำหนดของตัวเองว่าคนที่เดินทางเข้ามาในประเทศจะต้องมีประวัติการได้รับวัคซีนที่ครบถ้วนซึ่งแต่ละประเทศจะมีข้อกำหนดแตกต่างกันไปครับ

หมอบีขอยกเอาตัวอย่างจากแผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาลกับงานอาชีวอนามัยกันครับ สืบเนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาลเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2558 ที่ผ่านมาทำให้มีผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก บ้านเรือนพังทลาย ทรัพย์สินเสียหายนับเป็นมูลค่าความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินที่สูงมาก

ภาพทีมแพทย์ไทยเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เนปาล จาก www.tnamcot.com

หลายๆประเทศพยายามหยิบยื่นความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆทั้งเงิน ข้าวของเครื่องใช้ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ทีมแพทย์และพยาบาล ตลอดจนความช่วยเหลืออื่นๆ

ล่าสุดทาง CDC ได้ประกาศความรุนแรงในพื้นที่ประเทศเนปาลเป็นระดับ 3 คือให้ประชาชนในสหรัฐหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าประเทศเนปาลหากไม่มีเหตุจำเป็นจริงๆ

ทั้งนี้หากใครจำเป็นต้องเดินทางไปเนปาลจริงๆช่วงนี้ เช่นทีมแพทย์และพยาบาลไทยที่จะเข้าไปช่วยเหลือดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บที่ยังรอดชีวิตอยู่ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครบถ้วน ต้องเตรียมตัวล่วงหน้า 4-6 สัปดาห์ก่อนการเดินทาง

ภาพการฉีดวัคซีนในผู้ใหญ่ จาก www.freestockphotos.biz

วัคซีนที่จำเป็นได้แก่วัคซีนพื้นฐาน โรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน สุกใส โปลิโอและไข้หวัดใหญ่ และเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากอาหารการกินที่ปนเปื้อนเชื้อในพื้นที่ควรฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสตับอักเสบเอและไข้ไทฟอยด์ไว้ด้วยครับ

ภาพผู้ป่วยโรคติดเชื้อไข้ไทฟอยด์ จาก www.jaydelovell.com

หากเป็นบุคลากรทางการแพทย์อาจต้องสัมผัสเลือดและสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี หรือถ้าเป็นบุคคลทั่วไปอาจติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีที่ว่าได้ทางเพศสัมพันธ์หรือการสักนะครับ

การเดินทางไปตามถนนอาจถูกสุนัขจรจัดที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัดได้ครับ และถ้าใครวางแผนจะอยู่ต่อนานเกิน 1 เดือน ควรพิจารณาฉีดวัคซีนไข้สมองอักเสบไว้ด้วย นอกจากนี้ถ้ามิตรประเทศของเนปาลจากทวีปแอฟริกาเข้ามาช่วยเหลืออาจเป็นไปได้ว่าจะพาเชื้อโรคไข้เหลืองติดมาด้วยครับ

นอกจากการฉีดวัคซีนแล้วผู้ที่เดินทางไปเนปาลทุกคนควรทานยาต้านมาลาเรียป้องกันตัวเองก่อนเข้าพื้นที่ หากรับเชื้อมาลาเรียเข้ามาอาจกินเวลานานถึง1 ปีก่อนจะเริ่มมีอาการได้ระยะฟักตัวของโรคค่อนข้างยาว

ถ้ามีไข้ ผื่นหรืออาการอะไรที่ผิดปกติภายหลังจากการเดินทางให้ตระหนักไว้เสมอครับว่าอาจเป็นการติดเชื้อระหว่างที่อยู่ในต่างประเทศได้ และเชื้อโรคบางอย่างกว่าจะออกอาการให้เห็นใช้เวลาฟักตัวของโรคนานเป็นปีครับ ผู้ที่เดินทางกลับมาจากเนปาลทุกคนต้องแจ้งแพทย์ผู้รักษาทุกครั้งเกี่ยวกับประวัติการเดินทางครั้งนี้นะครับ

ภาพวงจรการติดเชื้อมาลาเรีย จาก www.flickr.com

การเตรียมตัวของผู้เดินทางนอกเหนือจากวัคซีนทั้งหลายแล้วยังมีเรื่องของการเตรียมสัมภาระ ยาสำหรับโรคประจำตัว และการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมขณะอยู่ในพื้นที่เสี่ยงของประเทศนั้นๆอีกนะครับ ทั้งหมดนี้สามารถปรึกษาแพทย์ที่มีความรู้เรื่องเวชศาสตร์ท่องเที่ยว หรือที่เรียกว่า Travel Medicine กันครับ แค่ชื่อก็น่าไปลงทะเบียนเรียนแล้วใช่มั้ยล่ะครับ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaitravelclinic.com/blog/th/travel-medicine-issue/thai-what-is-travel-medicine.html

จะเห็นว่าประเด็นหลักคือเรื่องของการติดเชื้อจากต่างแดนนะครับซึ่งป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนให้ครบถ้วน 

แนะนำเลยนะครับว่าทุกคนที่จะเข้าไปในเนปาลช่วงนี้ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวให้ครบ เตรียมสุขภาพและสัมภาระให้พร้อมสำหรับการเดินทาง ปฏิบัติตัวให้เหมาะสมขณะที่อยู่ในต่างแดน และกลับมาแล้วก็ควรเฝ้าระวังโรคที่แสดงอาการออกมาภายหลังการเดินทางไว้ด้วย

หมอบีหวังว่าทีมแพทย์ที่เข้าไปช่วยเหลือจะปลอดภัยและมีสุขภาพดีในการทำงานช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในครั้งนี้ทุกคนครับ

เชิญทำความรู้จักกับหมอบีได้ที่นี่ครับ รู้จักกับ"DOCTOR BEE"


หรือติดต่อหมอบีเชิญที่นี่เลยครับ ติดต่อ "DOCTOR BEE"
Share This Post :
Tags : ,

ติดตาม "หมอบี" ทาง Facebook

บทความใหม่ล่าสุด

[2][recent][recent][บทความใหม่ล่าสุด]

Social Media

Get update news from our social media.