NIHL หูพังจากเสียงดัง

สวัสดีครับ วันนี้หมอบีจะมาชวนคุยเกี่ยวกับโรคหูพังจากเสียงดัง หรือโรคประสาทหูเสื่อมจากการสัมผัสเสียงดัง (Noise Induce Hearing Loss, NIHL) หรือการสูญเสียการได้ยินจากเสียงดังนั่นเองครับ ถ้าเป็นจากเสียงดังในที่ทำงานก็นับว่าเป็นโรคจากการทำงานได้ครับ เชื่อว่าหลายๆท่านเคยมีประสบการณ์ที่ต้องทำงานในที่ที่มีเสียงดัง บางคนโชคไม่ดีทำงานไปซักระยะแล้วหูได้ยินน้อยลงแต่ไม่แน่ใจว่าเป็นจากงานหรือไม่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานประกอบการไม่ใส่ใจไม่ทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดคือตรวจการได้ยินทุกปีแต่ไม่เคยเอาผลมาเฝ้าระวังว่าพนักงานคนไหนเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงการได้ยิน สถานประกอบการหลายแห่งทำผิดวิธีอาจจะทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจครับ

ภาพโรค NIHL จาก www.laservices.ca

สถานประกอบการไม่ทำตามกฎหมาย แน่นอนครับว่าสถานประกอบการมักจะบอกว่าทำโครงการอนุรักษ์การได้ยินตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว แต่ยังทำไม่ถูกต้องในประเด็นที่ว่าต้องเอาผลการได้ยินมาแปลผลแบบเทียบกับข้อมูลพื้นฐานหรือก็คือ การเอาผลตรวจการได้ยินประจำปี (Annual) มาเทียบกับผลตรวจครั้งแรกที่เข้ามาทำงาน (Baseline) นั่นเองครับ

ถ้าแปลผลแบบเทียบกับข้อมูลพื้นฐานแล้วจะสามารถหาพนักงานคนที่เพิ่งเริ่มมีการได้ยินเปลี่ยนแปลงได้และป้องกันไม่ให้การได้ยินผิดปกติรุนแรงได้ครับ จะเห็นว่าประเด็นนี้ทำให้พนักงานเสียประโยชน์อย่างแรงจนทำให้หูหนวก หูตึงกันหลายราย จากการที่ได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ล่าช้าหรืออาจไม่ได้รับการส่งพบแพทย์เลย และไม่ได้รับการป้องกันอย่างทันท่วงทีครับ

สถานประกอบการมักให้บริษัทตรวจสุขภาพแปลผลการได้ยินให้ซึ่งมักเป็นการแปลผลแบบครั้งเดียวใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ ทั้งนี้ต้องเข้าใจครับว่าบริษัทตรวจสุขภาพส่วนใหญ่คิดว่าตัวเองนั้น

"ขายบริการตรวจสุขภาพเท่านั้น การนำผลตรวจสุขภาพไปเฝ้าระวังโรคให้พนักงานเป็นหน้าที่ของสถานประกอบการ"

ดูอย่างไรว่าบริษัทรับตรวจสุขภาพแปลผลแบบครั้งเดียวหรือแปลผลแบบเทียบ? ลองอ่านช่องที่แปลผลดูนะครับ

ถ้าแปลผลแบบเทียบที่ถูกต้องจะเขียนประมาณนี้ครับ

  1. พบ/ไม่พบการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับข้อมูลพื้นฐาน
  2. พบ/ไม่พบ Standard Threshold Shift, STS (OSHA) 
  3. พบ/ไม่พบ Significant Improvement (OSHA)
  4. พบ/ไม่พบ Significant Threshold Shift (NIOSH) 

ซึ่งเป็นการแปลผลแบบเทียบกับข้อมูลพื้นฐานครับ

แต่ถ้าแปลผลแบบครั้งเดียวซึ่งเป็นการแปลผลที่ไม่ตรงตามกฎหมาย และ ไม่มีประโยชน์ในการเฝ้าระวังโรคหูพังจากเสียงดังในที่ทำงานให้พนักงานจะเขียนประมาณนี้ครับ

  1. ปกติ 
  2. เฝ้าระวัง (สำนักโรคฯ)
  3. ผิดปกติ 
  4. การได้ยินลดลงที่ค่าเฉลี่ยความถี่สูง (สมาคมโสต ศอ นาสิก)
  5. การได้ยินลดลงที่ความถี่ในการได้ยิน 
  6. การได้ยินลดลงที่ความถี่ต่ำ 
  7. การได้ยินลดลงที่ความถี่ 4000-6000 Hz หรือที่ความถี่เท่านั้นความถี่เท่านี้(สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพ) 


หรืออาจเขียนว่า

  1. ผิดปกติแบบประสาทหูเสื่อม (Sensorineural Hearing Loss, SNHL)
  2. ผิดปกติแบบการได้ยินเสียงผ่านอากาศลดลง (Conductive Hearing Loss, CHL)
  3. ผิดปกติแบบผสม (Mixed Hearing Loss, Mixed HL) เป็นต้นครับ


ภาพการแปลผล Audiogram ผิดปกติแบบผสม (Mixed HL) มีผลตรวจครั้งเดียวก็แปลได้ครับ 

วินิจฉัยว่าเป็นโรคหูพังจากเสียงดังในการทำงานแล้วได้อะไร?
แน่นอนครับว่าถ้าเป็นโรคจากการทำงานจะมีค่ารักษาพยาบาล ชดเชยรายได้ระหว่างหยุดพักรักษาตัว และค่าชดเชยสมรรถภาพร่างกายที่เสียไปให้พนักงานแต่ละคน และสถานประกอบการจะได้ตระหนักถึงปัญหาสุขภาพพนักงานไปดำเนินการป้องกันลดเสียงดังในที่ทำงานไม่ให้เพื่อนพนักงานคนอื่นๆป่วยด้วยโรคหูพังจากเสียงดังเช่นเดียวกัน

อาการที่อาจสังเกตุได้ของผู้ป่วยหูพังจากเสียงดัง  ได้แก่ มักจะพูดเสียงดังกว่าปกติ เพราะไม่ได้ยินเสียงของตัวเองขณะพูดครับ บางคนอาจมีอาการหูอื้อ หรือบางรายอาจ ได้ยินเสียงแปลกปลอมในหูเป็นเสียง วิ้ง วิ้ง ถ้าเป็นแบบชั่วครั้งชั่วคราวภายหลังจากการทำงานหายในชั่วข้ามคืนยังพอรักษาได้ครับ แต่ถ้าปล่อยไว้เป็นแบบเรื้อรังรักษาไม่หายก็มีอาการได้ยินที่ผิดปกติไปตลอดชีวิตครับ

สำหรับพนักงานที่หูหนวก หูตึง หรือสงสัยว่ามีการได้ยินผิดปกติที่อาจเกี่ยวข้องกับการทำงานในอดีต หรือจากที่ทำงานปัจจุบัน แนะนำให้ทำแบบนี้ครับ

มายื่นขอรับบริการวินิจฉัยที่คลินิกโรคจากการทำงานของโรงพยาบาลประจำจังหวัด
โดยนำ

  1. ผลการได้ยินที่มีย้อนหลังตั้งแต่ก่อนเข้าทำงานจนถึงปัจจุบัน 
  2. ผลการตรวจวัดสภาพแวดล้อมในสถานที่ทำงาน

ทั้งนี้อาจต้องขอข้อมูลจากสถานประกอบการเตรียมมาให้ครบเพื่อให้สะดวกในการวินิจฉัยแต่ถ้าสถานประกอบการไม่ให้ ไม่เป็นไรครับ ไว้ติดต่อให้กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานประสานขอให้ 


กรมสวัสดิฯ โทรสายด่วน 1546 ได้เลยครับ

สำหรับการวินิจฉัยโรคหูพังจากเสียงดังในการทำงานลักษณะผลการได้ยินต้องเข้าได้กับเกณฑ์ สอดคล้องกับเสียงที่ดังในที่ทำงาน และแยกสาเหตุอื่นๆ โรคอื่นๆออกไปแล้วเช่นการได้ยินผิดปกติจากอายุ ขี้หูอุดตัน เป็นหวัดหูอื้อ อุบัติเหตุที่ศีรษะโดยเฉพาะบริเวณหู ยาที่เป็นพิษต่อหูบางอย่าง และโรคหูประเภทอื่นๆที่อาจทำให้เกิดความผิดปกติของการได้ยินครับ

หมอบีคิดว่าโรคหูพังหูเสื่อมจากการทำงานกับเสียงดังเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในสถานประกอบการที่มีเสียงดัง แต่ได้รับความสนใจน้อยเนื่องจากผู้ป่วยรู้ตัวช้าเพราะเป็นอาการผิดปกติที่ค่อยเป็นค่อยไปจะรู้ตัวก็ตอนที่เป็นมากแล้ว มีปัญหาในการใช้ชีวิติประจำวันและอีกประเด็นคือการแปลผลแบบเทียบกับข้อมูลพื้นฐานเป็นสิ่งที่ทำได้ยากพอสมควร แต่ สถานประกอบการก็ต้องทำให้ได้ตากกฎหมายและตามมาตรฐานที่เป็นสากลครับ
Share This Post :
Tags : ,

ติดตาม "หมอบี" ทาง Facebook

บทความใหม่ล่าสุด

[2][recent][recent][บทความใหม่ล่าสุด]

Social Media

Get update news from our social media.