HEALTH CHECK UP หน่วยบริการตรวจสุขภาพ ตาม พรบ.โรคจากการประกอบอาชีพ


สวัสดีครับหน่วยบริการตรวจสุขภาพ วันนี้หมอบีจะแนะนำ พระราชบัญญัติ ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๖๒ ครับ ซึ่งต่อไปหมอบีขอเรียกสั้นๆว่า พรบ.โรคจากการประกอบอาชีพ ละกันนะครับ

หลายท่านคงมีข้อสงสัยว่า ทำไมจึงต้องมี พรบ.โรคจากการประกอบอาชีพนี้? และเมื่อ พรบ.ฉบับนี้ออกมาแล้วจะมีผลกระทบต่อหน่วยบริการตรวจสุขภาพของท่านอย่างไรบ้าง?

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาขออนุญาตเริ่มกันเลยครับว่า 

หน่วยบริการตรวจสุขภาพจะดำเนินการตาม พรบ.โรคจากการประกอบอาชีพได้อย่างไร?


1.การขึ้นทะเบียนหน่วยบริการอาชีวเวชกรรม การให้บริการตรวจสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น ตรวจก่อนเข้างาน ตรวจตามปัจจัยเสี่ยง ตรวจประเมินความสมบูรณ์พร้อมในการทำงาน ใน พรบ.ฉบับนี้ กำหนดให้ "นายจ้างต้องเลือกตรวจสุขภาพจากหน่วยบริการอาชีวเวชกรรมที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้นครับ" ซึ่งจะแตกต่างจากที่ผ่านมา คือ หากไม่ขึ้นทะเบียนหน่วยบริการอาชีวเวชกรรมให้ถูกต้องจะไม่สามารถให้บริการได้ครับ เมื่อถึงเวลาไปนำเสนองานจะช่วยลดคู่แข่งที่ให้บริการด้อยคุณภาพจนไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ครับ ทั้งนี้หากใครให้บริการโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนจะมีโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท เชียวนะครับ

2.การให้บริการอาชีวเวชกรรม หลังขึ้นทะเบียนแล้วจะต้องแน่ใจว่าให้บริการได้ตามมาตรฐานวิชาชีพและมาตรฐานในงานอาชีวเวชกรรม หากให้บริการด้อยมาตรฐานจะมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาทครับ 

หมอบีแนะนำให้หน่วยบริการตรวจสุขภาพ ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน ติดตามความคืบหน้าของกฎหมายลูกอย่างใกล้ชิด และปรึกษาแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ (เฉพาะแพทย์ที่ได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติจากแพทยสภาครับ ตรวจสอบรายชื่อแพทย์ได้ที่เวปของแพทยสภา) เพื่อพัฒนาบริการอาชีวเวชกรรมให้มีคุณภาพตามที่กฎหมายกำหนดจะได้ทำงานออกตรวจสุขภาพได้อย่างสบายใจครับ 

ในเบื้องต้นการให้บริการน่าจะเน้น 
2.1รายการตรวจสุขภาพ ควรออกแบบโดยแพทย์อาชีวเวชศาสตร์
2.2การตรวจพิเศษทางอาชีวอนามัย เช่น สมรรถภาพการมองเห็น สมรรถภาพการได้ยิน และสมรรถภาพปอด ควรได้มาตรฐานวิชาชีพ โดยควบคุมทั้ง บุคลากร เทคนิคการตรวจ และอุปกรณ์เครื่องมือ ให้ได้มาตรฐานครับ
2.3การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น สารเคมีในสิ่งคัดหลั่ง เม็ดเลือด การทำงานของตับและไต ควรได้มาตรฐานทางห้องปฏิบัติการขั้นต่ำที่เรียกว่า Lab Accreditation (LA) หรือมาตรฐานที่สูงกว่า เช่น ISO สำหรับทุกรายการที่ออกให้บริการตรวจ
2.4การตรวจร่างกายโดยแพทย์ นอกจากให้คำแนะนำในการรักษาผลที่ผิดปกติแล้ว ต้องพิจารณาว่า

  • 2.4.1อาจผิดปกติโดยมีสาเหตุจากการทำงานหรือไม่ จะดำเนินการวินิจฉัยโรคต่ออย่างไร
  • 2.4.2ความผิดปกติจะเป็นอุปสรรคต่อการทำงานหรือไม่ แก้ไขได้อย่างไร
  • 2.4.3การทำงานจะทำให้ความผิดปกติที่พบแย่ลงได้อีกหรือไม่ ควบคุมป้องกันได้อย่างไร

3.ผลตรวจสุขภาพผิดปกติที่อาจเกิดจากการประกอบอาชีพ เมื่อพบลูกจ้างมีความผิดปกติที่อาจเกิดจากการประกอบอาชีพ (มีเหตุอันควรสงสัย เช่น ลักษณะผลผิดปกติเฉพาะ) เมื่อก่อนหน่วยบริการตรวจสุขภาพต้องแจ้งนายจ้าง ให้นายจ้างแจ้งลูกจ้างภายใน 3 วัน แต่ตาม พรบ.ฉบับนี้หน่วยบริการสุขภาพต้องแจ้งเจ้าพนักงานด้วย "หากหน่วยบริการตรวจสุขภาพไม่รายงานให้ถูกต้องจะมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท" จะเห็นว่า "หน่วยบริการตรวจสุขภาพต้องศึกษาเกี่ยวกับความผิดปกติที่ต้องรายงานเจ้าพนักงานให้ดี เช่นเดียวกับนายจ้าง" จะออกหน่วยตรวจสุขภาพตรวจเสร็จคืนผลให้กับลูกจ้าง แล้วรอส่งสรุปให้นายจ้างเป็นอันจบเหมือนที่ผ่านมาไม่ได้ ถ้าเจอผลผิดปกติแล้วไม่รายงานเจ้าพนักงานอาจต้องเสียค่าปรับครับ 

4.การรายงานผลตรวจสุขภาพให้เจ้าพนักงาน เรื่องนี้ถูกระบุไว้ในมาตรา 29 หมอบีคาดว่าจะระบุรายละเอียดการรายงานเพิ่มเติมให้ "แม้ไม่พบความผิดปกติที่เกิดจากการประกอบอาชีพก็ต้องรายงาน และรายงานข้อมูลดิบทั้งหมดในรูปแบบอิเลคโทรนิคไฟล์" ทั้งนี้เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวครับ


ข้อเสนอแนะจากความเห็นส่วนตัวของหมอบี คือ "หน่วยบริการตรวจสุขภาพควรเตรียมตัวขึ้นทะเบียนหน่วยบริการอาชีวเวชกรรม พัฒนาการให้บริการให้ได้มาตรฐาน และหาแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ช่วยพิจารณาว่าเป็นความผิดปกติที่อาจเกิดจากการประกอบอาชีพที่ต้องรายงานหรือไม่ และรายงานผลให้พนักงานเจ้าหน้าที่อย่างครบถ้วนถูกต้องครับ"

สำหรับผลกระทบเบื้องต้นของ พรบ.โรคจากการประกอบอาชีพฉบับนี้ ที่มีต่อหน่วยบริการตรวจสุขภาพ หมอบีขอให้ข้อสังเกตว่า นอกจาก พรบ.จะช่วยให้ลูกจ้างได้รับบริการตรวจสุขภาพที่ได้มาตรฐานแล้ว ยังช่วยให้ได้ความร่วมมือในการรายงานผลตรวจสุขภาพ และความผิดปกติที่พบ จากหน่วยบริการตรวจสุขภาพ เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวังโรคจากการประกอบอาชีพ การควบคุม และป้องกันโรค สำหรับลูกจ้าง ซึ่งเป็นอีกเหตุผลส่วนหนึ่งครับว่าทำไมต้องมี พรบ.โรคจากการประกอบอาชีพฉบับนี้ครับ
Share This Post :
Tags :

ติดตาม "หมอบี" ทาง Facebook

บทความใหม่ล่าสุด

[2][recent][recent][บทความใหม่ล่าสุด]

Social Media

Get update news from our social media.