10 Causes of Back Pain รวม 10 สาเหตุหลัก ที่ทำให้เกิดอาการปวดหลัง(จากการทำงาน?)

สวัสดีครับ วันนี้หมอบีรวบรวมสาเหตุการปวดหลัง ใน ผู้ป่วยโรคปวดหลังที่สงสัยว่าเกิดจากการทำงาน มาให้ทุกท่านพิจารณากัน การปวดหลังอาจเป็นได้หลายโรคทั้งเป็นเพียง อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อทั่วไปที่เป็นชั่วครั้งชั่วคราว กลับบ้านนอนพักวันสองวันหาย ไปจนถึงอาการปวดหลังร้างลงขาที่เกิดจาก การกดทับเส้นประสาท บางคนทำกายภาพบำบัดแล้วดีขึ้น บางคนอาจต้องผ่าตัด บางคนโชคร้ายผ่าตัดไปก็ยังไม่หายปวดหลัง

เมื่อพนักงานคนหนึ่งมีอาการปวดหลังและมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างทั้งจากในงานและนอกงาน เราจะสามารถสรุปได้อย่างไรว่า 
"อาการปวดหลังนั้นเกิดขึ้นจากการทำงานหรือไม่?"

หากสงสัยเกี่ยวกับอาการปวดหลังและตลอดจนการเจ็บป่วยต่างๆว่าเกี่ยวข้องกับการทำงานหรือไม่?  แนะนำให้อ่านจาก ป่วยจากการทำงานใช่มั้ย? ลองคลิกดูสิครับ

แน่นอนครับว่าสาเหตุของอาการปวดหลังพบได้ทั้งจากในการทำงานและนอกเหนือจากการทำงาน แต่วันนี้เราจะมาคุยกันว่า สาเหตุที่สำคัญที่สุด 10 อันดับรายการแรก คืออะไร

ภาพสาเหตุของอาการปวดหลังจาก https://www.consumerhealthdigest.com/wp-content/uploads/2017/06/causes-backpain-info.jpg

1.การก้มหลัง จัดว่าเป็นท่าทางการทำงานที่เสี่ยงต่อการปวดหลังมากที่สุด จากการศึกษาวิจัยก่อนหน้า เราจะพบว่่าการทำงานที่ต้องก้มหลังตั้งแต่ 45 องศาขึ้นไป หากก้มสัปดาห์ละ 90 นาทีขึ้นไป มีโอกาสที่จะปวดหลังมากกว่าคนทั่วไปถึง 6.49 เท่า ซึ่งนับว่ารุนแรงมาก สำหรับการก้มหลังที่น้อยกว่านั้น เช่น 30 องศา พบรายงานว่าทำให้เพิ่มโอกาสในการปวดหลังได้เช่นกันครับ

2.การขับรถ โดยทั่วไปการนั่งทำงาน เราเชื่อว่ามีโอกาสที่จะทำให้ปวดหลังน้อย แต่หากนั่งขับรถวันละหลายๆชั่วโมง (3-8 ชั่วโมงต่อวัน) เป็นการนั่งที่นานเกินไป และหลังต้องรับแรงสั่นสะเทือนจากตัวรถผ่านเบาะมาสู่ร่างกายตลอดเวลาก็อาจทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ นอกจากการนั่งขับรถแล้ว พนักงานออฟฟิศและผู้บริหารที่ต้องนั่งทำงานต่อเนื่องกันวันละหลายชั่วโมงก็มีรายงานว่าทำให้เกิดอาการปวดหลังได้เพิ่มขึ้นด้วย

หากสนใจท่าทางการนั่งทำงานในสำนักงานแนะนำให้อ่าน OFFICE ERGONOMICs การยศาสตร์ในสำนักงาน คลิกที่ชื่อได้เลยครับ

3.การยกของหนัก แน่นอนครับว่าการยกของหนักเป็นภาระต่อหลังส่วนล่างโดยตรง ยิ่งถ้ายกด้วยท่าทางที่ไม่ถูกต้อง ก้มหลัง ยกห่างลำตัว ทั้งนี้จากผลการศึกษาในต่างประเทศพบว่าการยกของหนักเกินชั่วโมงละ 100 กิโลกรัมสามารถทำให้เกิดการปวดหลังได้ และหากยกของที่หนัก 25 กิโลกรัมขึ้นไปเพียงครั้งเดียวก็อาจทำให้ปวดหลังได้แล้ว และหากยกมากกว่า 15 ครั้งต่อวัน ยิ่งทำให้มีโอกาสปวดหลังมากกว่าคนทั่วไปถึง 2.38 เท่า

4.การเดินไกลๆระหว่างการทำงาน หากมีการเดินในการทำงานเฉลี่ยมากกว่า 30 นาทีในแต่ละชั่วโมงการทำงาน ก็พบว่าสามารถทำให้เกิดการปวดหลังได้เช่นกันครับ

5.การหมุนบิดลำตัว ยิ่งหมุนตัวเป็นองศาที่มาก และยิ่งทำซ้ำบ่อยๆในแต่ละวัน ยิ่งทำให้เกิดโอกาสปวดหลังจากการทำงานได้มาก ทั้งนี้เราควรออกแบบท่าทางการทำงานให้มีการบิดหมุนลำตัวน้อยที่สุด คนที่ทำงานต้องปฏิบัติตามคู่มือการทำงานให้ถูกต้อง จะพบได้บ่อยในกรณีที่ พนักงานทำงานแบบที่ตัวเองคิดว่าสะดวก ทำได้เร็ว ซึ่งมีการบิดลำตัวมากกว่าที่ควรและเกิดอาการปวดหลังตามมา กลายเป็นประเด็นว่าเกิดจากหน้างาน หรือเกิดจากตัวของพนักงานเอง

6.การสูบบุหรี่ ทำให้เส้นเลือดต่างๆในร่างกายผิดปกติ การนำอากาศและออกซิเจนไปถึงอวัยวะต่างๆลดลง รวมถึงหลังและหมอนรองกระดูก งานวิจัยในต่างประเทศพบว่า การสูบบุหรี่จัด มากกว่า 20 มวนต่อวัน สามารถทำให้เกิดอาการปวดหลังได้สูงถึง 5.5 เท่า และแม้จะเลิกสูบแล้วก็ยังมีโอกาสปวดหลังมากกว่าคนทั่วไปอยู่เล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตาม หมอบียังไม่พบรายงานว่าการสูบบุหรี่ที่น้อยกว่า 20 มวนต่อวันจะทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ การสรุปว่าคนที่สูบบุหรี่ทุกคน ทุกระดับการสูบบุหรี่ไม่ใช่โรคปวดหลังจากการทำงานเป็นการเหมารวมที่ค่อนข้างเอาเปรียบวัยแรงงานมากเกินไป แต่การสูบบุหรี่ก็เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง หากโรงงานไหนมีพนักงานปวดหลังเยอะ การดำเนินโครงการเลิกบุหรี่ก็เป็นโครงการสร้างเสริมสุขภาพที่น่าสนใจครับ

การสรุปว่า "คนที่สูบบุหรี่ทุกคน-ทุกระดับการสูบบุหรี่ไม่ใช่โรคปวดหลังจากการทำงาน" เป็นการเหมารวมที่ค่อนข้างเอาเปรียบวัยแรงงานมากเกินไป

7.ความอ้วน เป็นอีกสาเหตุสำคัญของอาการปวดหลัง น้ำหนักตัวที่มาก (ฺBMI>30) ทำให้หลังต้องรับภาระหนักตลอดเวลาทั้งจากในระหว่างการทำงาน และนอกเหนือจากการทำงาน คนอ้วนมีโอกาสปวดหลังมากกว่าคนทั่วไปถึง 2.57 เท่า

8.คนที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับหลัง คนที่เคยมีอาการปวดหลังมาก่อน และคนที่เคยผ่าตัดบริเวณหลังก็มีโอกาสที่จะเกิดอาการปวดหลังได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เช่น คนที่เป็นโรคข้ออักเสบซึ่งเป็นโรคเรื้อรัง

การคัดคนเข้าทำงานที่เสี่ยงต่อการปวดหลังคงต้องพิจารณาชั่งน้ำหนักความเสี่ยงในการเกิดอาการปวดหลังที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตเป็นรายๆไป โดยพิจารณาจากความหนักของงานและความเสี่ยงรายบุคคลของพนักงาน

9.แอลกอฮอล์ แม้จะมีรายงานว่าเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคปวดหลังได้ แต่ต้องเสพติดอย่างมากจริงๆครับ ไม่พบรายงานว่าการดื่มเล็กน้อยบางโอกาสทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ แต่หากใครมีอาการปวดหลังแล้วควรหลีกเลี่ยงการดื่มเแอลกอฮอล์นะครับ

10.การออกกำลังกาย หรือ งานอดิเรกบางอย่างที่มีท่าทางที่ผิดธรรมชาติก็อาจทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ เช่น การตีกอล์ฟ เราจะเห็นข่าวนักกอล์ฟอาชีพที่มีอาการปวดหลังบ่อยๆ เนื่องจากมีท่าทางการก้มหลัง หมุนบิดลำตัว ยิ่งมือสมัครเล่นที่ท่าทางยังไม่ถูกต้องนัก ผู้สูงอายุที่มีความเสื่อมของร่างกายตามวัย ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงมาก แต่ยังไม่พบรายงานการศึกษาวิจัยว่าตีกอล์ฟมากแค่ไหน บ่อยแค่ไหน จึงจะปวดหลังนะครับ ในทางกลับกันพบว่าคนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายมีโอกาสปวดหลังมากกว่าคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำถึง 1.55 เท่า

ภาพอาการปวดหลังจากการตีกอล์ฟ Common Golf Injuries จาก 3riversortho.com

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนของสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังที่พบได้จากผลงานวิจัยทั่วโลกที่หมอบีทบทวนและรวบรวมไว้ครับ ที่น่าสนใจคือ เมื่อพนักงานคนหนึ่งมีอาการปวดหลังและมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างทั้งจากในงานและนอกงาน เช่น พนักงานอ้วน สูบบุหรี่วันละ 5 มวน ออกรอบตีกอล์ฟสัปดาห์ละครั้ง ทำงานเสี่ยงยกของหนัก ก้มบิดลำตัว ทุกวัน วันละหลายๆครั้ง เราจะสามารถสรุปได้อย่างไรว่า "อาการปวดหลังนั้นเกิดขึ้นจากการทำงานหรือไม่?" จะสรุปว่าใช่ก็มีข้อค้าน สรุปว่าไม่ใช่ก็มีข้อโต้แย้ง

หากต้องการข้อมูลโรคปวดหลังจากการทำงาน แนะนำให้อ่าน ปวดหลังจากการทำงาน VS กองทุนเงินทดแทน คลิกที่ลิงก์ได้เลยครับ

"อาการปวดหลังครั้งนี้เกี่ยวข้องกับการทำงานร้อยละเท่าไร? (กี่ %)"

หมอบีเสนอว่าเราน่าจะเปลี่ยนจากอาการปวดหลังครั้งนั้นเป็นโรคจากการทำงานหรือไม่ มาเป็น "อาการปวดหลังครั้งนี้เกี่ยวข้องกับการทำงานร้อยละเท่าไร? (กี่ %)" ทั้งนี้ถ้าเกินกว่า 50% ขึ้นไปก็จัดว่าเป็นโรคจากการทำงานหรือโรคเกี่ยวเนื่องจากการทำงานได้ครับ โอกาสหน่้าหมอบีจะมาแนะนำวิธีการประเมินว่าอาการปวดหลังของพนักงานครั้งนี้เกี่ยวข้องกับการทำงานมากน้อยแค่ไหน สำหรับวันนี้สวัสดีครับ   
Share This Post :
Tags : , ,

ติดตาม "หมอบี" ทาง Facebook

บทความใหม่ล่าสุด

[2][recent][recent][บทความใหม่ล่าสุด]

Social Media

Get update news from our social media.